26 November 2006

ส่องกล้องมอง พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจได้ทราบข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผ่านร่าง พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กันบ้างนะครับ อันว่า พรบ. ใหม่นี้ถือว่าเป็น พรบ. ที่เริ่มต้นร่างกันมานานพอสมควรแล้ว โดยเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ 6 ฉบับ ที่เริ่มกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 แล้ว และผู้เขียนเห็นว่าเนื้อหาของ พรบ. ดังกล่าวซึ่งผ่านการรับหลักการในสภานิติบัญญัติไปเมื่อ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่พวกเราชาวไซเบอร์ รวมถึงนักการตลาดน่าจะสนใจใคร่รู้ จึงขออนุญาตนำเอาประเด็นสำคัญใน พรบ.มานำเสนอ ในที่นี้

ในร่าง พรบ. ดังกล่าว ประกอบด้วย 28 มาตรา นอกเหนือจาก มาตราที่ 1-4 ที่เป็นการให้คำนิยามของคำว่า “ระบบคอมพิวเตอร์” “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” “ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์” และคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็แบ่งออกเป็น 2 หมวด หมวดแรกจำนวน 11 มาตรา นั้นกำหนดเกี่ยวกับฐานความผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนหมวดที่สองอีก13 มาตรากำหนดเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ลองมาดูกันนะครับว่ามีเรื่องอะไรควรรู้บ้าง

สำหรับพวก Hacker Cracker ทั้งหลาย ควรทราบความผิดตามมาตรา 5 – 8 ไว้ให้ดีครับ พวกที่ชอบแอบเข้าบ้าน (ระบบ) ของคนอื่น ที่เจ้าของบ้านได้ป้องกันไว้แล้วแต่ยังพยายามเจาะเข้าไปจนได้ ไม่ว่าจะเข้าไปทำหรือไม่ทำอะไรก็ตาม มาตรา 5 กำหนดโทษไว้ให้จำคุกหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท … ความเห็นของผู้เขียนว่าบทลงโทษอาจจะเบาไปสักหน่อยนะครับ คงต้องติดตามกันต่อไป

ส่วนในมาตรา 6 ท่านไหนที่ได้ไปรู้วิธีเข้าระบบหรือรู้ password ของระบบแล้วเที่ยวเอาไปบอกคนอื่น เตรียมตัวครับ โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ข้อนี้ยอมความไม่ได้นะครับ
มาตรา 7 คล้ายกับมาตรา 5 มาก แต่ระบุชัดเจน ถึงการ “เข้าถึงข้อมูล” (มาตรา 5 นั้นเข้าถึงแค่ “ระบบ”) อันนี้โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท และยอมความได้เช่นเดียวกับมาตรา 5 จนผู้เขียนได้รับฟังความเห็นจากหลายท่านเห็นว่าน่าจะรวมกันเสียก็ดีเหมือนกัน

พวกชอบดักจับข้อมูล ต่อไปมีความผิดแล้วนะครับ ตามมาตรา 8 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีข้อยกเว้นให้กับการดักจับตามคำสั่งของเจ้าของข้อมูลเอง

พวกไม่หวังดี ชอบทำลาย ให้เกิดความเสียหายด้วย เตรียมตัวรับโทษหนักขึ้นได้ครับ เพราะในมาตรา 9 กำหนดให้ผู้ที่ทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือถ้าชอบก่อกวนให้ระบบคนอื่นถูกระงับ ใช้งานตามปรกติไม่ได้ อันนี้มาตรา 10 กำหนดบทลงโทษไว้หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน และถ้าส่งผลถึงด้านความมั่นคงของประเทศโทษอาจสูงขึ้นถึง จำคุก 15 ปี หรือปรับมากถึง 300,000 บาท หรือเกิดอันตรายต่อร่างการหรือชีวิตของประชาชน โทษก็สูงขึ้นไปถึงขั้นประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกสิบถึงยี่สิบปีได้เลยนะครับ ส่วนในมาตรา 12 นั้น อ่านดูอาจจะ งง งง เล็กน้อยนะครับ แต่ถ้าบอกว่าเป็นการกำหนดบทลงโทษสำหรับพวกที่จัดทำ หรือเผยแพร่ spyware คงเป็นที่คุ้นเคยกันดี

อ่านดูในมาตรา 5 – 12 ข้างต้นนั้น อาจจะดูไกลตัวผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตธรรมดาไปสักหน่อย แต่ตั้งแต่มาตรา 13 เป็นต้นไปทุกท่านควรทราบไว้ให้ดีครับ เพราะว่าด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ ทำให้บุคคลที่สามเสียหาย เป็นความผิดต่อความมั่นคง หรือข้อมูลอันลามก ล้วนแล้วแต่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งในมาตรานี้ ผู้เขียนอยากจะย้ำเป็นพิเศษครับ เพราะโทษนั้นไม่ได้มีเฉพาะผู้ที่เป็นคนสร้าง ทำ ผลิต เท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมถึงคนที่ เผยแพร่ หรือส่งต่อด้วย ต่อไปทุกท่านต้องระวังนะครับ เมื่อได้รับอีเมล์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเข้าข่ายความผิดดังกล่าว ที่ผ่านมาเราอาจจะกด forward ส่งต่อไปไม่ได้คิดอะไร แต่ต่อไปจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายเช่นกันครับ และบทลงโทษที่กำหนดไว้ก็ไม่ได้ต่างจากผู้ที่เป็นคนนำเข้าข้อมูลดังกล่าวเสียด้วย

ส่วนมาตราที่ 14 ถือว่าเป็นมาตราที่เหล่าผู้ดูแลเว็บ หรือดูแลระบบต้องให้ความใส่ใจครับ เพราะหากมีผู้อื่นนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิด เข้าสู่ระบบที่เราดูแล และเรารับทราบและไม่ได้ลบข้อมูลนั้นในทันที ก็ถือว่ามีความผิดไปตามมาตราที่ 13 กับเขาด้วย น่าคิดนะครับ ว่าในทางปฏิบัติผู้ดูแลเว็บจะจัดการกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้เร็วแค่ไหน และคำว่า ทันที นั้นจะหมายถึงอย่างไร

สุดท้ายในหมวดนี้ มาตรา 15 นั้นเน้นเรื่องภาพตัดต่อ ที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงโดยเฉพาะ ทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ยอมความได้ครับ)

ส่วนในหมวดที่สอง เรื่องเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้เขียนขอไม่กล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้นะครับ แต่อยากเรียนเชิญให้ทุกท่านได้ลองไปศึกษาเพิ่มเติม และแสดงความเห็นเกี่ยวกับ พรบ. ใหม่นี้ได้ที่
http://wiki.nectec.or.th ลองมองดูกลางๆ หน้าจะเจอ คำว่า ร่างพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... HOT!! หรือถ้าไม่เจอ ก็ใส่คำว่า ร่างพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... ลงในช่อง search นะครับ หรือถ้าสนใจอ่านความเห็นเพิ่มเติมก็มีผู้ให้ความเห็นไว้ที่ http://www.biolawcom.de อีกที่หนึ่ง พบกันใหม่ครั้งหน้าครับ สวัสดีครับ

26 October 2006

It’s not WHAT you know, but WHO you know

เห็นด้วยกับคำกล่าวข้างต้นไหมครับ สำหรับพวกเราหลายคนอาจให้ความสำคัญกับเรื่องของ “สังคม” หรือ “คอนเนคชั่น” สัปดาห์นี้ขออนุญาตแนะนำทุกท่านให้รู้จักกับบริการบนอินเตอร์เน็ตที่ เชื่อม “คน” กับ “คน” เข้าด้วยกัน พา “เพื่อนเก่า” ที่ห่างหายไม่ได้ติดต่อกันมานาน กลับมาเจอกัน หรือแม้กระทั่งเปิดโอกาสให้เราพบ “เพื่อนใหม่” จากกลุ่ม “เพื่อนของเพื่อน” เราอาจเรียกบริการจำพวกนี้ได้ว่า Social Network Service (SNS) นั่นเองครับ

หลายท่านที่มีประสบการณ์การใช้งานคงจำได้นะครับ จู่ๆ เราก็ได้รับอีเมล์จากเพื่อนของเราบอกว่าเข้าไปสมัครบริการนี้สิ เราก็เข้าไป ลงทะเบียน ใส่ข้อมูลส่วนตัว เสร็จแล้วเราก็พบว่า เรามี “เพื่อน” อยู่ในระบบทันที 1 คน (คือคนที่ชวนเรามานั่นเอง) หลังจากนั้นก็เราก็ชักคิดถึงเพื่อนคนอื่นๆ ก็ค้นหาจากระบบดูว่ามีเพื่อนเราคงไหนอีกไหมที่ใช้เว็บนี้เหมือนๆ กัน ก็ไปชวนเข้ามาอยู่ในกลุ่มเพื่อนเรา ใครที่ไม่อยู่ เราก็ส่งอีเมล์ไปชวนให้มาเข้าระบบเสีย หลังจากนั้นเราก็อาจเริ่มรู้จักเพื่อนใหม่ๆ จากในระบบนี้เอง … คงเป็นเพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมกระมังครับ เราถึงเสียเวลานั่งทำอะไรอย่างที่ว่าได้อย่างเพลิดเพลิน

และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไม Friendster.com ถึงมีผู้ใช้งานกว่า 7 ล้านคนภายในปีเดียว Hi5.com มีคนไทยเข้าไปเล่นอยู่ 250,000 คนเข้าไปแล้ว เช่นเดียวกับ Ryze.com WAYN.com ที่มีผู้ใช้งานหลักล้าน รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง Google ก็เปิด Orkut.com ให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้สัมผัสด้วยเช่นกัน (ขอนอกเรื่องหน่อยนะครับ ที่ Google นี้เขามีนโยบายให้พนักงานใช้เวลา 20% ของการทำงาน ทำอะไรก็ได้อย่างอิสระเพื่อให้เกิดการค้นคว้าหาความรู้ และเจ้า Orkut.com นี่เป็นผลงานของพนักงานคนหนึ่ง ที่ใช้เวลา 20% ที่ว่านั่งสร้างระบบนี้ขึ้นมาครับ ทาง Google เลยตั้งชื่อตามชื่อพนักงานคนนั้นเสียเลยครับเพื่อเป็นการให้เกียรติ)

เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสมา เข้าใจว่า Hi5 น่าจะเป็นที่นิยมของคนไทยมากกว่าเพื่อน แนวการใช้งานเป็นลักษณะแนวสังสรรค์บันเทิง สนุกๆ มากกว่า ดารา นักร้อง นางแบบ หลายคนก็มาเล่นอยู่ในนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมี SNS รูปแบบที่เป็นธุรกิจ และมีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลายเช่นกัน

Linkedin.com ประกาศไว้บนหน้าเว็บว่ามีกลุ่มคนทำงาน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร เข้าไปเป็นสมาชิกเกิน 7 ล้านคนแล้ว เนื่องจากเป็นเครือข่ายที่เน้นด้านธุรกิจ จึงไม่มีลูกเล่นอะไร ไม่มีการให้โพสต์ภาพ หรือให้ข้อมูลส่วนตัวมากนัก และให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของสมาชิกสูงมากครับ แม้กระทั่งคำที่ใช้เรียกสมาชิกในเครือข่าย ก็เรียกว่า “Connection” นะครับ ไม่เรียกว่า “Friend” J

การรู้จักกันใน Linkedin ส่วนใหญ่ก็เพื่อทำธุรกิจ เท่าที่อ่านดูมีผู้ให้บริการทางธุรกิจว่า 200,000 รายอยู่ในนี้นะครับ อีกส่วนหนึ่งที่นิยมมากก็คือเรื่องของการสรรหาพนักงานภายในเครือข่ายดังกล่าว ว่ากันว่า มี Recruiter เข้าไปใช้งาน Linkedin ร่วม 60,000 คนแล้วครับ ผู้บริหารของบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งถึงกับกล่าวว่า การใช้งาน Linkedin ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานได้เกือบล้านบาททีเดียวครับ หรืออย่างที่ Deloittle ก็ประหยัดค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานได้ถึง 20% ด้วยการชวนให้พนักงานเก่าที่ลาออกไปแล้วกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง (แบบที่เรียกว่า Boomerang)

ประโยชน์จาก SNS เชิงธุรกิจในแง่มุมอื่นๆ เช่น การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า คู่ค้า อย่างไม่เป็นทางการ (SNS อย่าง Hi5 เปิดโอกาสให้เราได้รู้จักคนอื่นๆ ในด้านส่วนตัวมากขึ้น) บางครั้งก็ช่วยเราค้นหาตัว “ผู้รู้” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” ในเรื่องเฉพาะทางบางเรื่องได้ดี หรือใครที่ขายสินค้า บริการ บางครั้งอาจต้องการหา บริษัทพันธมิตร เพื่อมาร่วมกันเสนองานก็สามารถทำได้ ในแง่การบริหารบุคคล SNS ยังช่วยให้เราเข้าใจถึง ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในองค์กร (ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามสายบังคับบัญชา หรือผังองค์กรนะครับ แต่เป็นไปโดยส่วนตัวมากกว่า) ซึ่งเจ้าความสัมพันธ์ที่ว่านี้จะบอกถึงการ “ไหล” ของข้อมูลภายในองค์กร ซึ่งก็นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน นำไปสู่การพัฒนาองก์ความรู้ภายในองค์กรได้ครับ

ในเชิงโฆษณา การใช้งาน SNS ส่วนใหญ่ต้องลงทะเบียนและให้ข้อมูลส่วนบุคคล (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ข้อมูลจริง เพราะใช้ในงานติดต่อกับ คน จริงๆ) การลงโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (ไม่ว่าจะเป็นตาม เพศ อายุ การศึกษา งานอดิเรก เรื่องที่สนใจ ฯลฯ) จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจไม่น้อยครับ

เล่ามาเสียเยอะ ใช่ว่า SNS จะมีแต่ด้านดีนะครับ ปัญหาของผู้ใช้งาน SNS ในปัจจุบันก็มาจากความนิยมที่มากเกินนี่เองครับ ทำให้เกิดเว็บ SNS ขึ้นอีกมากมาย จนเราอาจไปตามลงทะเบียนที่โน่นที่นี่ที่นั่นไม่ไหว เพื่อนคนหนึ่งอยู่ใน Hi5 เพื่อนอีกคนอยู่ใน WAYN เพื่อนอีกคนเล่นแต่ Linkedin แบบนี้ก็งงเหมือนกันนะครับ และด้วยเหตุผลนี้เอง SNS บางที่ถึงมี “จำนวนสมาชิก” อยู่มาก แต่ “จำนวนสมาชิกที่ใช้งานสม่ำเสมอ” หรือ Active members กลับมีไม่มากนัก ผู้ใช้งานหลายรายถึงกับเรียกหา Software ที่จะช่วยรวม SNS เข้าด้วยกัน ซึ่งดูแล้วลำบากสักหน่อย ส่วนหลายรายก็ถอดใจหันกลับไปติดต่อขาประจำผ่านทาง Instant Messaging เสียมากกว่า

มีทั้งข้อดี ข้อด้อย แบบนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับว่าอนาคตของ SNS จะเป็นอย่างไร ระหว่างนี้เราก็เลือกใช้ประโยชน์จากข้อดีของ SNS กันตามต้องการไปก่อนแล้วกันนะครับ … ทิ้งท้ายบทความนี้ฝาก Link ไปดูกันเล่นๆ ครับกับคำกล่าวของผู้บริหาร Youtube.com ที่เพิ่งขายกิจการไปให้กับยักษ์ใหญ่อย่าง Google ด้วยมูลค่าไม่มากไม่น้อย ประมาณ 6 หมื่นกว่าล้านบาทได้ครับ ดูร่าเริงสดใสกันดีนะครับ
http://www.youtube.com/watch?v=QCVxQ_3Ejkg

พบกันใหม่ครั้งหน้าครับ สวัสดีครับ

21 September 2006

User-Generated Content และพลังของการแลกเปลี่ยนแบ่งปัน

ก่อนเริ่มเรื่องในสัปดาห์นี้ ผมต้องขอขอบคุณท่านผู้บริหารของเอเยนซี่โฆษณารายหนึ่ง ที่ได้กรุณาแนะนำหัวข้อเรื่องสำหรับสัปดาห์นี้ และเมื่อลงมือเขียนพบว่าสนุกถูกใจผู้เขียนทีเดียว หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านเช่นเดียวกันนะครับ

อนาคตของการตลาดบนอินเตอร์เน็ตจะไปในทิศทางไหน เป็นคำถามที่น่าสนใจ ถ้าเราลองพยายามตอบคำถามนี้จากการสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว ในฐานะ “ผู้ใช้งาน” ดูเหมือนจะมีหลายเรื่อง หลายนิยามที่ผ่านตา หรือลอยเข้าหู มาในช่วงปีสองปีหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งต่อ Video ที่ Youtube.com การแชร์รูปภาพใน Flickr ความนิยมของการเขียน Blog หรือ Diary ในเว็บผู้ให้บริการสัญชาติไทยอย่าง Bloggang Exteen Storythai หรือ ที่คนเล่นเว็บบ้านเราใช้เยอะพอตัวอย่าง MSN Spaces (ที่ตอนนี้แปลงร่างเป็น Windows Live Spaces เป็นที่เรียบร้อย) เช่นเดียวกับเรื่องของ Wikipedia ที่กลายเป็นแหล่งรวมข้อมูล ขวัญใจนักศึกษา เช่นเดียวกับการ Search หาข้อมูลผ่าน Google ไปแล้ว

ทุกๆ เรื่องที่กล่าวข้างต้น ดูเหมือนจะมีลักษณะร่วมกันอยู่หนึ่งอย่างที่ค่อนข้างชัด นั่นคือ เนื้อหาที่ปรากฏในอินเตอร์เน็ต หรือเว็บไซต์ในปัจจุบัน และคาดว่าจะเป็นไปในอนาคต มีส่วนที่เกิดขึ้นจาก “ผู้ใช้งาน” เป็นผู้เขียน หรือ ส่งเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เรียกรวมๆกันอย่างตรงตัวได้เลยว่า User-Generated Content (UGC) นั่นเอง


นอกจากนั้นยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันครับ คือการไม่ยึดติดว่าจะต้องดึงผู้ใช้งานให้มาเข้าเว็บไซต์ของเรามากๆ และมาอ่านข้อมูลที่เรามี (บางคนเรียก Information Silo) แต่มองกลับไปถึงการจะทำอย่างไรให้เนื้อหาที่เราเขียนขึ้นนั้นแพร่หลายออกไปได้มากที่สุด เรียกว่าเนื้อหาอยู่ที่ไหนไม่สำคัญ ขอให้เป็นเนื้อหาของฉัน … และฉันควบคุมได้ เท่านั้นก็พอ และนั่นคือเรื่องของ Content Syndication อย่าง RSS ดูโดยรวมแล้วโลกอินเตอร์เน็ตเรากำลังมุ่งสู่การแลกเปลี่ยนแบ่งปันที่ทรงพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว
อันที่จริงการที่เราเปิดให้ผู้ใช้งานเป็นผู้เขียน หรือสร้างเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ ในทางเทคนิคก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่มากนะครับ อย่างเว็บไทย หลายๆ เว็บ ได้ออกแบบให้ผู้ใช้งานมามีส่วนร่วมสร้างเนื้อหาในเว็บเช่นกัน และประสบความสำเร็จเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ Pantip ที่เริ่มแรกเลยมาจากการสนทนาเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ Mthai ที่สร้างกระแสความนิยมการ Post ภาพบนเว็บ รวมถึงการเขียนไดอารี่ออนไลน์มากว่า 5 ปีแล้ว

ในเมื่อทางเทคนิคไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก แล้วอะไรล่ะครับ ที่เปลี่ยนไป ใช่แล้วครับ พฤติกรรมผู้ใช้งาน สิครับที่เป็นตัวกำหนดสำคัญ (เหมือนกับอะไรหลายอย่างในโลกอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีขยับก่อน และรออีกพักหนึ่งถ้าเทคโนโลยีนั้นโดนใจผู้บริโภค พฤติกรรมจะเปลี่ยนมาตามทีหลังไงครับ) ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตดูเหมือนจะคุ้นเคยกับการ เขียน แบ่งปัน แลกเปลี่ยนความเห็นกันมากขึ้น ที่สหรัฐอเมริกา เว็บอย่าง Youtube.com ติดอันดับเว็บที่โตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ Myspace ตอนนี้มีคนลงทะเบียนแล้วมากกว่า 100,000,000 คน!!!

UGC ในมุมของนักการตลาด
สำหรับนักการตลาดบน เมื่อเล็งเห็นความสำคัญกับเรื่องของ UGC มากขึ้นแล้ว การแปลความ วิเคราะห์ผลตอบรับก็เปลี่ยนมุมมองตามไปด้วย จากแต่ก่อนที่เราดูว่าผู้ใช้งานอยู่ในเว็บเรา “นานเท่าไร” ตอนนี้ยังต้องมาให้สำคัญกับความถี่ และเวลาที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมบนอินเตอร์เน็ต สนใจว่าผู้ใช้งานเข้ามา “ทำอะไร” โดยเฉพาะการเข้ามาเขียนเนื้อหาขึ้น หรือรวมไปถึงการแบ่งปันให้คนอื่นอย่างสะดวก นอกจากนั้นเหล่านักการตลาดยังให้ความสนใจถึงผลกระทบของ UGC ที่จะมีผลต่อแบรนด์ เพราะเมื่อการแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ทำได้ง่าย เร็ว ชัดเจนขึ้น พลังของมันจะมากขึ้นและน่าจะเหนือกว่าพลังจากข้อความโฆษณาด้วยซ้ำ ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่สามารถบังคับควบคุมทิศทางของการแลกเปลี่ยนความเห็นเหล่านี้ได้ ดูเหมือนว่าการเข้าไป รับฟังความคิดเห็น ให้ข้อมูลเมื่อจำเป็น แสดงความรับผิดชอบในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และมีส่วนร่วมกับชุมชนคนใช้สินค้าจะเป็นทางออกที่ลงตัวที่สุด เพราะความเห็นจากกลุ่มผู้บริโภคที่แลกเปลี่ยนกันอยู่นั้นเหมือนเป็นวัตถุดิบชั้นดีในเชิงวิจัยการตลาด พอๆ กับการเป็นแหล่งจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับงานโฆษณาชิ้นต่อไปของสินค้า ยกตัวอย่างกรณีของซุป Campbell ที่สหรัฐอเมริกาเปิดให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์แนะนำปราสาท ที่เหมาะเป็นสถานที่ถ่ายทำงานโฆษณาชิ้นต่อไป แล้วก็ได้สถานที่ที่โดนใจจริงๆ ครับ

หลายๆ แบรนด์ชั้นนำรวมทั้ง Coca-Cola มองเห็นแนวโน้มนี้ และลงทุนปรับโฉมเว็บ coca-cola.com ใหม่ให้มีความเป็น UGC มากขึ้น (ลองเข้าไปเล่นดูสิครับ) และที่น่าสนใจครับ สองเดือนที่แล้วนี้เอง WPP เครือเอเยนซี่อันดับหนึ่งรายล่าสุด ประกาศตัวลงขันกับผู้เชี่ยวชาญการสร้าง UGC และ moderate ชุมชนออนไลน์ อย่าง Liveworld เพื่อเปิดให้บริการด้านการจัดสร้าง และดูแล ชุมชนออนไลน์ให้กับสินค้าแบรนด์ดังต่างๆ โดยเฉพาะแล้วเช่นกัน

ส่วนในบ้านเราแม้ว่าเรื่องนี้จะยังใหม่ และตามหลังต่างประเทศอยู่บ้าง แต่นักการตลาดก็เริ่มเตรียมตัวแล้วนะครับ ผู้เขียนเองได้มีโอกาสพูดคุยกับ Brand Manager และ Product Manager หลายๆ สินค้า พบว่าตอนนี้ทีมการตลาดเริ่มหมั่นตรวจเช็คความเห็นของผู้บริโภคโดยการเข้าไปอ่านตามเว็บบอร์ดต่างๆ รวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมกับชุมชนออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น แล้วคุณล่ะครับ … ลองเข้าไปเล่นดูหน่อยไหมครับ
ยังเหลืออีกเรื่องหนึ่งที่เข้ามามีผลอย่างมากครับ คือ Social Networking ส่วนจะเกี่ยวอย่างไร มีผลแค่ไหนขอติดไว้ครั้งหน้าครับ แล้วพบกัน สวัสดีครับ

10 August 2006

ถนนทุกสายมุ่งสู่ Search Engine Marketing

สัปดาห์นี้เริ่มด้วยการพาไปดูแนวโน้มของโฆษณาออนไลน์กันสักนิดนะครับ ได้อ่านจากงานวิจัยต่างประเทศ บอกว่าอีก 5 ปี ตัวเลขงบโฆษณาออนไลน์ในสหรัฐอเมริกาน่าจะวิ่งไปถึงระดับ 15,000 ล้านเหรียญต่อปี (ประมาณ 600,000 ล้านบาท) โดยหลายธุรกิจเริ่มหันมาใช้งานสื่อออนไลน์กันมากขึ้น มีการใช้สื่อออนไลน์กับสื่อออฟไลน์ร่วมกัน และเริ่มหันไปวิเคราะห์ผู้บริโภคตามลักษณะพฤติกรรม (Behavioral targeting) มากขึ้น

อีกจุดที่น่าสนใจมากๆ ครับ เม็ดเงินในการโฆษณาออนไลน์เริ่มถูกเทมายังการทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหา (Search Engine Marketing) เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าจำพวก สุขภาพ ยานยนต์ ซึ่งใช้งบโฆษณาเยอะกว่าเพื่อนอยู่แล้ว กลุ่ม เสื้อผ้า เกมส์ ท่องเที่ยว ก็หันมาใช้มาก เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มใช้ search engine ในการค้นหาสินค้าเหล่านี้มากขึ้น รวมไปถึงกลุ่มสินค้า ด้านการเงิน และสื่อบันเทิง ด้วยเช่นกัน

สำหรับในบ้านเราการทำ Search Engine Marketing ก็ทำกันมาระยะหนี่งแล้วครับ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เน้นตลาดลูกค้าต่างประเทศ เช่น ท่องเที่ยว อัญมณี บริการสุขภาพ โดยใช้ Keyword ภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันกลุ่มนี้มีกว่า 90% เลยนะครับ แต่ในปีนี้เราเริ่มเห็นคนทำตลาดในประเทศ และใช้ คีย์เวิร์ดภาษาไทยเริ่มหันมาใช้ Search Engine Marketing กันมากขึ้น เช่นกลุ่มประกันชีวิต อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น


ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของ Search Engine Marketing คงหนีไม่พ้นความสามารถของ Search Engine เองโดยเฉพาะอย่างยิ่งความนิยมใน Google อย่างในบ้านเรา ตัวเลขล่าสุดผู้ใช้งาน Google ในการค้นหาข้อมูลมีมากถึง 86% เลยทีเดียว นอกจากนั้นทาง Google เอง ก็พัฒนารูปแบบการโฆษณาใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้นักการตลาดได้ทำโฆษณากันง่ายขึ้น

ในสัปดาห์นี้ผมขอแนะนำการทำ Search Engine Marketing ผ่าน Google สองแบบใหญ่ๆ ที่ใช้กันมากในบ้านเราครับ

1. Search Engine Optimization (SEO) – คือการทำให้ Search Engine วิ่งมาเจอเว็บของเราได้ง่ายขึ้นครับ ถ้าลองใช้ Google สังเกตว่าผลการค้นหาของจำพวก SEO จะขึ้นแสดงผลทางซ้ายมือของหน้าจอ โดยนักการตลาดต่างหวังจะให้เว็บติดอันดับแสดงผลใน 10 อันดับแรก (หน้าแรก) ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะจากงานวิจัย คนที่ใช้งาน Search แค่ครึ่งเดียวเท่านั้นครับ ที่เปิดไปดูผลการค้นหาหน้าที่สอง อีกครึ่งจบแค่หน้าแรก

ขั้นตอนการทำ SEO นั้นมีตั้งแต่การวิเคราะห์เว็บของคู่แข่ง การค้นหา Keyword ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของเรา การปรับแก้ Tag และข้อความในหน้าเว็บไซต์ รวมไปถึงการแลกลิงค์กับเว็บไซต์อื่นๆ ทั้งหมดเพื่อให้ลิงค์ไปเว็บของเราถูกแสดงผลในอันดับสูงกว่า เว็บอื่นๆ

2. Pay Per Click (PPC) – เช่น Google AdWords แบบนี้ต้องจ่ายค่าโฆษณาให้ Google แต่จะจ่ายก็ต่อเมื่อมีคนคลิกลิงค์มายังเว็บไซต์ของเราเท่านั้น ถ้าลองใช้ Google สังเกตนะครับ บางครั้งเวลาเราค้นหา Google จะแสดงลิงค์โฆษณาจำพวกนี้ขึ้นมาทางขวาของหน้าจอ เทคนิคสำคัญในการทำโฆษณา PPC นี้คือ การวิเคราะห์คู่แข่ง วิจัยและคิด Keyword รวมถึงการทำงบประมาณ ที่จะใช้ในแต่ละวันแต่ละเดือน

ในการโฆษณาแบบ PPC การจะจ่ายแต่ละคลิกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคู่แข่งด้วยซึ่งหลายครั้งต้องประมูลแข่งกัน และบางคีย์เวิร์ดมีราคาสูงอย่างไม่น่าเชื่อ อาทิเช่น Mesothelioma Lawyer (ใครทราบช่วยแปลทีครับ ผมแปลได้ว่า ที่ปรึกษาทนายเกี่ยวกับคดีมะเร็งเนื้องอกที่ปอด อันน่าจะเกิดจากการได้รับฝุ่นแร่ใยหินเข้าไป) ราคาถึง 600 บาทต่อคลิก Car Insurance (ประกันรถยนต์) ราคา 560 บาทต่อคลิก Debt Consolidation (การปรับโครงสร้างหนี้) ราคา 400 บาทต่อคลิก หรือ Student Loans (เงินกู้ยืมสำหรับนักศึกษา) ราคา 360 บาทต่อคลิก ทีเดียว

เนื่องจากการทำโฆษณาแบบ PPC เราจะต้องเสียค่าโฆษณาทุกครั้งที่มีคนคลิกเข้าเว็บไซต์ของเรา เรื่องสำคัญ (มาก) อีกหนึ่งเรื่องคือเราต้องพยายามจูงใจให้คนที่เข้ามายังเว็บไซต์เราแล้ว ซื้อสินค้า สมัครสมาชิก หรือมีปฏิสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้มากที่สุด วิธีการก็คือปรับการออกแบบ และข้อความในหน้าเว็บไซต์ที่คนคลิกเข้ามาเจอให้มีลักษณะจูงใจให้เกิดการซื้ออย่างที่กล่าวข้างต้น

เทคนิคการทำโฆษณาผ่าน Search Engine ยังมีอีกมากนะครับ ท่านที่สนใจลองศึกษาด้วยตัวเองได้จากอินเตอร์เน็ต เช่น
http://www.webmasterworld.com http://www.seo.in.th จากหนังสือ “Search Engine Marketing 2.0” ของคุณ จตุพล ทานาฤทัย กูรูด้าน Search Engine ของไทยซึ่งได้ให้ความกรุณาเป็นที่ปรึกษา และให้ข้อมูลหลายอย่างประกอบในบทความนี้ด้วย หรือจะติดต่อขอคำปรึกษาจากบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ก็สะดวกรวดเร็วดีเช่นกันครับ

มีความเห็นอย่างไร ลองอีเมล์มาคุยกันนะครับ และขอให้สนุกกับการทำ Search Engine Marketing กันทุกท่าน โชคดีครับ

28 June 2006

Press Releases แนวใหม่ในยุค Web 2.0

ยังติดลมอยู่ครับ ในช่วงเศรษฐกิจซึมๆ แบบนี้ ผมจะพยายามนำเสนอแนวทางใหม่ๆ เผื่อท่านนักการตลาดจะนำไปประยุกต์ใช้กันได้บ้าง ครั้งที่แล้วในเรื่อง Viral Marketing มีตัวอย่างความสำเร็จของ บทความเกี่ยวกับมุมมองใหม่ทางการประชาสัมพันธ์ที่ต่อมาเป็นที่สนใจ มีคนดาวน์โหลดกันเยอะมาก ผมเป็นหนึ่งในนั้นด้วยที่เข้าไปติดตามผลงาน แล้วได้พบว่า … น่าสนใจจริงๆ ครับ เพราะสิ่งที่อยู่ในบทความ “The New Rules of PR” ของคุณ David Meerman Scott* นั้นต่างจากแนวปฏิบัติทางการ “แจกข่าว” หรือ Press Releases ในแบบเดิมๆ มากทีเดียว

การแจกข่าวในอดีต (และปัจจุบัน) นั้นส่วนใหญ่มุ่งไปที่การส่งข่าวไปยังกลุ่มผู้สื่อข่าว นักเขียน และบรรณาธิการของสื่อชนิดต่างๆ โดยสื่อจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะนำข่าวแจกที่ได้รับนั้นไปนำเสนอหรือไม่ อย่างไร ส่วนใหญ่เนื้อข่าวก็จะถูกเรียงร้อยใหม่ด้วยถ้อยคำของผู้สื่อข่าวเอง นักประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่จึงส่งข่าวให้กับสื่อเฉพาะเมื่อมีข่าวสำคัญจริงๆ การวัดผลทำได้โดยการตัดข่าว หรือ ที่เรียกว่าคลิปข่าวจากสื่อต่างๆ เท่านั้น

การแจกข่าวในมุมมองใหม่นี้ต่างจากแนวคิดเดิมอย่างสิ้นเชิงโดยอยู่บนหลักการว่า เราสามารถส่งข่าวเหล่านี้ถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านสื่อ กลุ่มเป้าหมายซึ่งใช้งานอินเทอร์เน็ตในการค้นหา และเรียกดูข้อมูล ผ่านทาง Search Engine และ RSS ** หลักการของการแจกข่าวแนวใหม่นี้มีอยู่ 6 ข้อ คือ

1. ไม่ต้องเป็น “ข่าวใหญ่” ขอแค่เรา “มีเหตุผลที่ดี” ในการส่งข่าวก็พอ – การแจกข่าวผ่านสื่อนั้น ผู้สื่อข่าวมักจะได้รับข่าวเป็นจำนวนมาก จากหลายแหล่ง จึงจำเป็นต้องเลือกนำเสนอข่าวเฉพาะบางข่าวที่ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ไม่สามารถลงข่าวของเราได้บ่อยๆ เราจึงต้องเลือกส่งข่าวให้เฉพาะเมื่อมี “ข่าวใหญ่” เท่านั้น แต่ภายใต้แนวคิดใหม่นี้เราจะพยายามหาโอกาส และเหตุผลที่ดี ไล่ไปตั้งแต่เรื่อง ผู้บริหารไปร่วมบรรยายในงานสัมมนา ได้รับรางวัล เพิ่มคุณลักษณะใหม่เข้าในผลิตภัณฑ์ เซ็นสัญญากับลูกค้ารายใหม่ ไปจนกระทั่งการนำเสนอบทความผ่านทางเว็บไซต์ ทั้งหมดแม้ไม่ใช่ข่าวใหญ่ แต่สามารถนำเสนอได้ทั้งหมด ยิ่งนำเสนอมากเท่าไร องค์กรของเรายิ่งดูมีความคืบหน้า ก้าวไปในอนาคตได้มากเท่านั้น ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือต่อตัวองค์กร

2. กลุ่มเป้าหมายหลักไม่ใช่ “สื่อ” หรือ “ผู้สื่อข่าว” แต่คือ ลูกค้า หรือ กลุ่มเป้าหมายที่จะซื้อสินค้าของเราโดยตรง –เราสามารถส่งข่าวได้ผ่านทางบริการส่งข่าวออนไลน์ อย่าง businesswire.com prweb.com หรือ prnewswire.com (ของไทยก็มีครับ ลองไปดูที่
http://news.truehits.net/news_online) รวมไปถึงการนำเสนอตัวข่าวผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการสื่อข้อความข่าวไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยตรง อย่างไรก็ตามเมื่อเราส่งข่าวโดยตรงให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยไม่ผ่านสื่อเช่นนี้ อย่าลืมทำตัวแทนสื่อ และคิดแบบสื่อ นั่นคือการออกแบบข้อความให้ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายด้วยนะครับ

3. ใส่ Keywords มากๆในตัวข่าว– แน่นอนว่าการใส่ Keyword มากๆในตัว ข่าวแจกจะเพิ่มโอกาสให้คนมาค้นเจอข่าวแจก ของเราได้ง่ายขึ้น แต่ … Keyword ไหนล่ะครับ ถึงจะดี แนะนำว่าเราควรเลือก Keyword ที่เป็น “ปัญหา” หรือ “ประโยชน์” ของกลุ่มเป้าหมาย มากกว่า Keyword ที่เป็น “คุณลักษณะ” ของตัวสินค้าของเราครับ

4. ใส่ Link มายังเว็บไซต์ของเราในตัวข่าวด้วย – เนื่องจากตัวข่าวแจก จะถูกกระจายออกไปในวงกว้าง การใส่ Link เข้าไปในข่าวแจก จึงเพิ่มโอกาสในการที่กลุ่มเป้าหมายจะเข้ามายังเว็บไซต์ของเราเพื่อดูข้อมูล หรือสั่งซื้อสินค้า นอกจากนี้ Link จำนวนมากที่ติดอยู่กับข่าวแจก ยังจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสที่เว็บไซต์เราจะติดอันดับสูงๆ (เพิ่ม Page Ranking ให้สูงๆ) เมื่อมีคนมาเรียกค้นผ่านทาง Search Engine อีกด้วย

5. พยายามออกแบบเนื้อข่าวเพื่อให้คนค้นมาเจอ (Searching) และผ่านมาเจอ (Browsing) –กลุ่มเป้าหมายบางคนอาจพบข่าวของเราได้เมื่อต้องการหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามบางอย่าง กลุ่มนี้จะใช้ Search Engine ในการค้นหาคำตอบ ดังนั้นเราจึงต้องออกแบบให้ข่าวของเราติดอันดับใน Search Engine โดยง่าย ในขณะเดียวกันกันกลุ่มเป้าหมายบางคนก็ผ่านมาเจอข่าวของเราโดยบังเอิญ เราจึงต้องพยายามออกแบบเว็บไซต์ให้คนมาอ่านเจอข่าวได้ง่ายๆ เช่นกัน

6. นำกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่กระบวนการขาย ผ่านทางข่าวแจก – โดยการเชิญชวนให้กลุ่มเป้าหมายตอบโต้กับตัวข่าว ไม่ว่าจะเป็นการคลิกปุ่ม “สั่งซื้อ” หรือ “ติดต่อเรา” หรือ “บริจาค” หลังจากนั้นขึ้นกับกระบวนการขายสินค้าของเราแล้วครับ ที่แนะนำคือออกแบบตัวเว็บไซต์ ให้มีลำดับขั้นตอนต่างๆ เหมือนกับขั้นกระบวนการขายตามปรกติมากที่สุด โดยมองจากมุมของลูกค้า ว่า ลูกค้าจะค้นหาข้อมูลโดยระบุชื่อสินค้า หรือชื่อบริษัท จะใช้คำอะไรในการค้น แล้วเมื่อค้นมาเจอแล้วจะมีขั้นตอนตัดสินใจอย่างไร

แถมท้ายด้วยเทคนิคการสร้างความน่าเชื่อถืออย่างง่ายๆครับ เราควรทำตัวเป็น “ผู้นำทางความคิด” อย่ามัวแต่ให้ข่าวที่เกี่ยวกับบริษัทเท่านั้นนะครับ การให้ข่าวที่เกี่ยวกับ อุตสาหกรรม ทิศทาง แนวโน้มตลาดด้วย จะทำให้เราดูเป็นผู้นำ และเพิ่มความน่าเชื่อถือในสายตาลูกค้าได้

อ่านจบตรงนี้แล้วไม่ได้หมายความว่าส่งเสริมให้ทำแต่การแจกข่าวโดยตรง หรือบอกว่าการแจกข่าวผ่านสื่อไม่มีความสำคัญนะครับ อย่างไรก็ตามสื่อก็ยังมีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในบ้านเราซึ่งความนิยมในการใช้อินเทอร์เน็ตยังไม่เท่ากับเมืองนอก แนะนำให้อ่านไว้เป็นทางเลือก เติมความคิดใหม่ๆ และให้เห็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตมากกว่าครับ โชคดีครับ

* David Meerman Scott เป็น นักเขียน ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้าน online content และเป็นผู้แต่งหนังสือ “Cashing in with Content” ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชม blog ของ David ได้ที่
http://www.webinknow.com/

** RSS (Really Simple Syndication) คือ รูปแบบการส่งผ่าน หรือแลกเปลี่ยนข้อความ หัวข้อข่าว ตลอดจนเนื้อข่าว กระจายกันไปในระหว่างเว็บไซต์ต่างๆ ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน ผู้สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.webreference.com/authoring/languages/xml/rss/intro/ หรือ http://www.xml.com/pub/a/2002/12/18/dive-into-xml.html

06 June 2006

ถึงเวลา Viral Marketing

สังเกตความเป็นไปทางเศรษฐกิจบ้านเรา ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งปัจจัยดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน แล้วอดกังวลไม่ได้นะครับ บริษัทไหนมีภาระหนี้สินตอนนี้คงเหนื่อยเรื่องดอกเบี้ย ส่วนภาคการผลิตและขนส่งก็หนีไม่พ้นผลกระทบจากราคาน้ำมัน เข้าขาลงทีไรอดคิดไม่ได้ว่าถึงเวลานักการตลาดต้องเหนื่อยกันอีกนิดกับงบประมาณที่จำกัด ลองมองดูเครื่องมือการตลาดที่แตกต่างกันบ้างดีไหมครับ น่าจะมีเครื่องมือหลายตัวที่น่าสนใจ … หรือจะถึงเวลาของ Viral Marketing กันเสียที ลองดูกรณีศึกษาข้างล่าง* นี้สิครับ

- เว็บไซต์ตัวกลางแลกเปลี่ยน VCD/DVD แห่งหนึ่ง Post เกมสนุกๆ ไปตามเว็บไซต์เกม และ blog จำนวนหนึ่ง เพียง 90 วันให้หลัง มีคนวิ่งเข้าไปเล่นเกมที่ว่ากว่า 2 ล้านคน และมีคนเข้าไปยังเว็บสินค้ากว่า 100,000 คน
- นิตยสารออนไลน์ฉบับหนึ่งส่งอีเมล์ออกไปเพื่อประชาสัมพันธ์เว็บของตัวเอง เป็นจำนวน สิบฉบับตอนสามทุ่ม เช้าวันต่อมาอีเมล์ถูกส่งต่อไปรวม 75 ฉบับ และเพิ่มเป็น 15,000 ฉบับในคืนต่อมา … ภายใน 28 วัน นิตยสารออนไลน์ฉบับนี้กลายเป็นเว็บที่มีคนเข้าชมมากที่สุดเว็บหนึ่ง ด้วยจำนวน 10,000,000 ครั้งต่อวัน
- บริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์แห่งหนึ่ง เขียนบทความเกี่ยวกับมุมมองใหม่ทางการประชาสัมพันธ์ แล้ว Post ไว้บน blog ของตัวเอง หลังจากนั้นก็อีเมล์ไปยังกลุ่มเพื่อนๆ และคนที่รู้จัก … สามวันต่อมา มีผู้สนใจเข้ามา download บทความที่ว่ามากกว่า 1,000 คนต่อวัน และในอีกสามวันหลังจากมีคนรู้จักมากขึ้นก็มีผู้สนใจ download กว่า 15,000 ครั้ง

ลองคิดถึงต้นทุนการตลาดของทั้งสามตัวอย่างข้างต้นสิครับ น้อยมากจนแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำไป ความรับรู้ที่เกิดขึ้นและกระจายต่อไปในรูปแบบของการ “บอกต่อ” ซึ่งเป็นสื่อที่ผู้บริโภคสร้างขึ้นมาเอง แทบทุกตำราบอกไว้ครับ สื่อที่ผู้บริโภคสร้างขึ้นเองนี้เป็นสื่อที่น่าเชื่อถือที่สุด มากกว่าทุกสื่อ และนั่นตรงกับนิยามของคำว่า “Viral Marketing” เลยครับ “ทำการตลาดโดยสนับสนุน อำนวยความสะดวกและจูงใจให้คนส่งต่อข้อความทางการตลาดของเราออกไป” เมื่อคนส่งต่อ กระจายข้อความของเราออกไปมากขึ้นๆ จำนวนผู้รับสารยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ลองดูภาพข้างล่างนี้สิครับ


1
11
1111
11111111
1111111111111111
11111111111111111111111111111111
1111111111111111111111111111111111111111111111111111111111111111


นี่คือเมื่อคนหนึ่งคน ส่งให้คนสองคนเท่านั้นนะครับ และอัตราการเพิ่มขึ้นจะสูงขึ้นกว่านี้อีกมาก ถ้า “แทบทุกคนที่ได้รับข้อความส่งต่อ” และ “ทุกคนที่ส่งต่อส่งให้คนเป็นจำนวนมาก”

แล้วเราควรทำอย่างไรคนถึงจะส่งต่อออกไปได้มากๆ ผมขออนุญาตย่อยบางส่วนของบทความโดย Dr. Ralph Wilson** มาไว้ที่นี้ครับ
1. แจกของฟรี – อย่างที่ทราบกันดีครับ คำว่า “ฟรี” น่าสนใจมากที่สุดแล้ว เหนือกว่าคำว่า “ถูก” หลายเท่านัก ถ้าเราแจกของดี ฟรี ไปพร้อมข้อความทางการตลาด ข้อความของเราจะถูกกระจายไปอย่างรวดเร็วแน่นอน
2. ส่งต่อง่ายๆ ไม่เสียแรง ไม่เสียเงิน – ไวรัสจะแพร่กระจายได้มาก มันต้องติดต่อได้ง่ายจริงไหมครับ อันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า อีเมล์ คือเครื่องมือที่เหมาะที่สุดเพราะมันส่งได้ง่ายจริงๆ ฟรี และเป็นต้นกำเนิดของ Viral Campaign สุดคลาสสิกอย่างที่ Hotmail ทำ จำได้ไหมครับ ข้อความลงท้าย ง่ายๆ สั้นๆ อย่าง “Get your private, free e-mail at
http://www.hotmail.com/
3. เริ่มจากน้อย ไปมาก และยิ่งมากขึ้น – นี่คือลักษณะของ Viral นะครับ นักการตลาดต้องเตรียมตัวรับมือไว้ด้วย ถ้าเกิดแคมเปญได้รับความนิยมท่วมท้น ต้องรับมือให้ได้เร็ว ทันท่วงที
4. เล่นกับพฤติกรรมและแรงจูงใจของคน – ต้องมองให้ออกครับ ว่าพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเราเป็นอย่างไร และอะไรจะเป็นสิ่งจูงใจให้เกิดการส่งต่อ ถ้าตอบตรงนี้ได้ โอกาสประสบความสำเร็จก็มีสูง
5. ใช้ประโยชน์จากชุมชน – มนุษย์เป็นสัตว์สังคม บนอินเทอร์เน็ตก็เช่นกันครับ มีชุมชนที่ผู้คนพูดคุย ทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความเห็นกันมากมาย ลองดูครับ ว่าที่ไหนที่กลุ่มเป้าหมายเราไปอยู่ เริ่มต้นจากที่นั่น ตัวอย่างบ้านเรามีให้เห็นบ่อยๆ อย่างภาพยนตร์บางเรื่องตอนแรกคนดูไม่มาก แต่พอเข้าไปเป็นกระแสในเว็บดังอย่าง pantip.com เท่านั้นเอง สถานการณ์พลิกไปเลยครับ คนแห่กันมาดูแน่นโรง
6. เกาะไปกับสื่อของคนอื่น – คู่ไปกับการแจกของฟรี ครับ เราเห็นบ่อยๆ นักเขียนที่เผยแพร่บทความดีๆ ให้อ่านกันฟรี และขอให้ผู้คัดลอกช่วยให้เครดิต กับผู้เขียนด้วย แบบนี้ใครคัดลอกไปก็ช่วยผู้เขียนประชาสัมพันธ์ไปในตัว เป็น Viral อย่างดีทีเดียวครับ

ดูน่าสนใจอย่างนี้ แต่การจะทำ Viral Marketing ก็มีเรื่องต้องระวังเช่นกันครับ บางครั้งอาจดูวัดผลยาก ยังโชคดีที่สื่อจำพวก ดิจิตอลอย่างอินเทอร์เน็ต มีข้อดีตรงนี้มาเสริมพอดี จึงไม่แปลกที่เราเห็นแคมเปญ Viral ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากสื่อดิจิตอล บางครั้งแคมเปญ Viral อาจมีปัญหาจากความคลาดเคลื่อนของข้อความในระหว่างการส่งต่อๆ กัน ซึ่งข้อนี้ผมเห็นว่าถ้าเราออกแบบให้ข้อความถูกส่งต่อง่ายเพียงไร ความเสี่ยงจากการบิดเบือนข้อความก็จะน้อยลงได้ และสุดท้ายคงเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “กระแส” กับ “วัตถุประสงค์ทางการตลาด” อันนี้อยู่ที่การออกแบบแคมเปญแล้วครับ ทำอย่างไรให้ “ดัง” และ “ตอบโจทย์”

คงต้องยอมรับนะครับว่าการจะทำ แคมเปญ Viral ให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อพิจารณา ต้นทุนการตลาดที่ต่ำ ลองได้ ไม่เสียอะไรมาก นับว่าน่าสนใจทีเดียว ใครลองแล้วเป็นอย่างไร บอกกันบ้างนะครับ

* ที่มา
http://www.marketingsherpa.com
** ที่มา
http://www.wilsonweb.com/wmt5/viral-principles.htm

10 April 2006

Media Convergence โอกาสของนักการตลาด

หลายท่านคงได้มีโอกาสได้ยินคำว่า Convergence มาบ้างตลอดในช่วงหนึ่งถึงสองปีหลังนี้ ซึ่งเราสังเกตเห็นการหลอมรวมกันของภาคธุรกิจต่างๆ อย่างมากมาย ที่เห็นชัดเจนคือในกลุ่มธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม และธุรกิจสื่อสารมวลชน เกิดการผนวกรวมหลายธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่เอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่าง AIS ซึ่งมีฐานธุรกิจสื่อในเครือชินอย่าง ITVหรือ ทางค่าย TRUE ที่แสดงความชัดเจนด้วยการเข้าซื้อหุ้น UBC และ KSC จากกลุ่ม MIH เป็นต้น

หากจะถามถึงเหตุผลของการหลอมรวมเข้าหากันดังกล่าว คงหนีไม่พ้นเรื่องของการมุ่งสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขัน สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และสร้างมูลค่าเพิ่มในแง่ธุรกิจ แต่หากเราหันมามองจากอีกข้างหนึ่งด้วยมุมมองของผู้บริโภคแล้ว การหลอมรวมเข้าหากันของเทคโนโลยีได้สร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตย่อมเกิดขึ้นอย่างไม่น่าสงสัย พร้อมกันนั้นผู้บริโภคต่างมีความต้องการ และมีความเข้าใจในการบริโภคเทคโนโลยีมากขึ้น สังเกตจากคนบางกลุ่มที่ไม่เคยใช้โทรศัพท์มือถือเนื่องจากมีราคาแพง ก็หันมาใช้ได้ง่าย เมื่อต้นทุนในการทดลองใช้บริการต่ำ และได้รับการจูงใจผ่านทางสื่อต่างๆ ที่คุ้นเคย ผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่เคยใช้งานข้อความสั้น (SMS) เป็นเวลาหลายปี ก็ใช้งานได้คล่องแคล่วหลังจากรายการ Reality Show ยอดนิยมจบได้ไม่นาน

การบริโภคเทคโนโลยีเหล่านี้ ก่อให้เกิด สื่อชนิดใหม่ จำพวกสื่อดิจิตอล ซึ่งแต่ละชนิดต่างมีข้อเด่นแตกต่างกันไป เช่นสื่ออินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเว็บไซต์ นั้นมีข้อดีที่ สามารถสื่อสารภาพและเสียงได้สมบูรณ์แบบ หากเราสังเกตแบนเนอร์โฆษณาบนเว็บไซต์ในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกับหนังโฆษณาโทรทัศน์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ขาดแต่เพียง ความลึกของเนื้อหา เนื่องจากต้องระวังไม่ให้ขนาดไฟล์ใหญ่เกินไป อย่างไรก็ตามความสมบูรณ์ของโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ ตามความแพร่หลายของการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและความพร้อมโครงข่ายพื้นฐาน นอกเหนือจากนั้นสื่ออินเทอร์เน็ตยังมีข้อเด่นตรงที่สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา และติดต่อได้จากทั่วโลก โดยมีต้นทุนการเข้าถึงสื่อที่ต่ำลงเรื่อยๆ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานสื่อชนิดนี้ในบ้านเราประมาณ 8 ล้านคน

ในขณะที่สื่อโทรศัพท์มือถือนั้นมีข้อเด่นตรงที่มีฐานผู้ใช้งานกว้าง ครอบคลุมถึงประมาณ 40% ของประชากร นอกจากนั้นยังเป็นช่องทางที่สามารถสื่อเข้าถึงตัวผู้บริโภคได้โดยตรง ท่านเคยลองสังเกตตัวเองไหมครับ ว่าจดหมายบางฉบับท่านไม่ได้เปิดอ่าน อีเมล์ขยะส่วนใหญ่จะถูกลบ แต่กับ SMSแล้วเรามักจะเปิดอย่างอยู่เสมอ แม้ว่าสื่อ mobile ยังมีข้อด้อยเรื่องของขนาดข้อมูล และความเร็วของการสื่อตัวกลาง แต่ข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ก็กำลังจะลดน้อยลงไปเมื่อเกิดการเข้ามาของเทคโนโลยีอย่าง 3G หรือ Wi-max ในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้เรายังสังเกตได้อีกว่าหลายๆ องค์กรเริ่มมาให้ความสำคัญกับการใช้ Interactive Voice Response (IVR) เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้ามากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากความสะดวกในการใช้งาน เข้าถึงได้ง่าย และตอบรับกับกลุ่มเป้าหมายได้ดี

สื่อชนิดหนึ่งที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ความเป็นคงหนีไม่พ้นสื่อวงกว้างอย่างโทรทัศน์ ที่เราเริ่มจะเห็นการผนวกเอาลูกเล่นของสื่ออื่นๆ เข้ามาเพิ่มสีสัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็นผ่านทางหมายเลข IVR Audiotex หรือ 1900 ที่แสดงบนหน้าจอ การเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมสนุกผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือล่าสุด รายการ reality show ชื่อดังอย่าง big brother ก็ให้โอกาสผู้ชมได้ลองส่ง MMS มาพิสูจน์ดูว่าตัวเองหน้าคล้ายใครมากที่สุดในบ้าน big brother เหล่านี้ล้วนเป็นสีสันของสื่อโทรทัศน์ในบ้านเราทั้งสิ้น

การหลอมรวมกันของสื่อ (Media Convergence) ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น เป็นเสมือนโอกาสของนักการตลาด ที่อาจเลือกหยิบเอาของดีหลายอย่างมาผสมกัน ลองจินตนาการถึงเครื่องมือการตลาดที่สมบูรณ์แบบนะครับ ถ้าเรามีสื่อที่ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ตลอดเวลา ถึงตัวกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เป็นการเฉพาะเจาะจง สามารถเก็บฐานข้อมูล หรือใช้ในเชิงสำรวจต่อไปได้ แถมพกด้วยความแปลกใหม่ น่าสนใจ และการวัดประเมินผลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ คงได้เห็นนักการตลาด รวมถึงเอเยนซี่บ้านเราโชว์ความคิดสร้างสรรค์ผ่านทางสื่อต่างๆ เหล่านี้กันอีกมาก และด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ความเข้าใจของผู้บริโภคที่มากขึ้น แคมเปญการตลาดด้วยในรูปแบบของสื่อผสม ที่เกิดจาก Media Convergence นี้คงจะมีมาให้เห็นนับจากนี้ไปอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ครั้งหน้าผมจะขอนำกรณีศึกษา หรือตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในไทย และในต่างประเทศมาให้ลองดูไอเดียกัน คอยติดตามนะครับ

05 April 2006

Mobile Marketing อย่างง่าย แต่ได้ผล

สองสัปดาห์ก่อน ผมพบสิ่งน่าสนใจบนกระป๋องน้ำอัดลมที่วางขายในประเทศอังกฤษ เป็นโฆษณากิจกรรม Mobile Marketing ที่ใช้ข้อความสั้น หรือ SMS เป็นเครื่องมือ โดยโครงการใหญ่ของ Coca-Cola ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนฟุตบอลลีกสโมสรที่นั่นครับ ตัวโฆษณาเขียนว่า “Win a Player” พร้อมมีรายละเอียดการร่วมสนุกอยู่ อ่านดูจึงทราบว่า เป็นรายการที่ให้แฟนฟุตบอล (อย่างที่เราทราบกันดีว่าชาวอังกฤษนั้นคลั่งไคล้ในกีฬาชนิดนี้เป็นพิเศษ) ได้มีโอกาสส่ง SMS ชื่อทีมฟุตบอลที่ตัวเองชื่นชอบเข้าไปที่หมายเลขหมายเลขหนึ่ง เมื่อหลายๆ คนส่งเข้าไป ถึงเวลาจบแคมเปญแล้วทาง Coca-Cola ก็จะจับสลาก เอาหมายเลขโทรศัพท์ของแฟนฟุตบอลผู้โชคดีขึ้นมา ถ้าข้อความของผู้โชคดีส่งเข้ามาเชียร์ทีมไหน ทีมที่โชคดีนั้นก็จะได้รับเงินรางวัล 250,000 ปอนด์ (ประมาณ 16.5 ล้านบาท) เพื่อนำไปซื้อตัวนักฟุตบอลเข้าเสริมทีม นั่นหมายถึงว่าทีมฟุตบอลทีมไหนมีแฟนๆ ส่งมาสนับสนุนมาก ก็ย่อมมีสิทธิ์ได้รางวัลมากเป็นพิเศษ ส่วนตัวแฟนฟุตบอลที่ส่ง SMS เข้าร่วมสนุกเองก็มีโอกาสได้รับรางวัลคนละ 10,000 ปอนด์ (ประมาณ 6 แสนกว่าบาท) เช่นกัน

กลับมาลองแวะเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของโครงการที่
http://www.coca-colafootball.co.uk จึงได้รู้รายละเอียดแคมเปญมากขึ้น นับว่าน่าสนใจจริงๆ ครับ

ปีนี้เป็นปีที่สองแล้วของ Win a Player เพื่อความสนุกมากขึ้นเลยเพิ่มรางวัลที่สองให้กับทีมฟุตบอลที่โชคดีอีกสองรางวัล รางวัลละ 50,000 ปอนด์ (3 ล้านกว่าบาท) บวกกับรางวัลเป็นตั๋วไปดูฟุตบอลโลกที่เยอรมนี (Coca-Cola เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของฟุตบอลโลกครั้งนี้ด้วย) โดยแคมเปญนี้เพิ่งจบ ประกาศรางวัลกันไปเมื่อ 29 เม.ย. นี้เองครับผู้โชคดีเป็นแฟนฟุตบอลของสโมสร Southampton สุภาพสตรีท่านนั้นช่วยทำให้สโมสรมีเงินไปซื้อตัวนักเตะเพิ่มขึ้นอีกโขอยู่ทีเดียว

นอกเหนือจากเป็นกิจกรรมที่สนุก น่าสนใจ สำหรับผู้บริโภคแล้วเราลองวิเคราะห์กันดูรอบๆ โครงการว่า จากมุมมองนักการตลาดนะครับ ว่า Coca-Cola น่าจะได้อะไรจากงานนี้บ้าง ลองดูตัวเลขแรกก่อนครับ จำนวน SMS ที่ส่งเข้ามาร่วมสนุก ปีนี้มีทั้งสิ้น 2.1 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีที่แล้ว 1.1 ล้านครั้ง เทียบกับจำนวนผู้ใช้มือถือที่โน่นร่วม 60 ล้านคนครับ (เฉลี่ยคนอังกฤษมีมือถือคนละ 1 เครื่องพอดี ไม่ขาดไม่เกิน) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 100 กว่าวัน หารง่ายๆ ก็ตกวันละ 20,000 กว่าครั้ง ถือว่าน่าสนใจทีเดียวนะครับ เมื่อดูจากรูปแบบโครงการที่ใช้สื่อหลักเป็นตัวผลิตภัณฑ์เอง แบบที่เรียกว่า On-pack promotion และ เว็บไซต์สำหรับให้ข้อมูล กฎ กติกา ต่างๆ

คลิกไปมาได้เจอข่าวชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับโครงการนี้ ว่าปีก่อนหน้าทีม Brighton ที่ได้เงินจากกิจกรรมนี้ 250,000 ปอนด์ นำไปซื้อตัวนักเตะคนใหม่มา ซึ่งพอมาร่วมทีมก็ยิงประตูคู่แข่งไปได้ถึง 5 ประตูใน 13 นัดแรกที่ลงเล่นทีเดียว ลองพิจารณาจากมุมนี้ละก็ นักการตลาดยิ้มแป้นเลยครับ เพราะสิ่งที่ได้จากแคมเปญนี้จะอยู่ในบันทึกสถิติของสโมสรเลยนะครับ ชื่อ ตราสินค้า ก็คงจะถูกจดจำและเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่กับกลุ่มเป้าหมายไปอีกนานทีเดียวในฐานะผู้ร่วมสนับสนุนความสำเร็จของทีม

ส่วนความเข้าใจในกลุ่มลูกค้าของ Coca-Cola เอง หากเราตั้งคำถามว่า “คนที่ดื่ม Coca-Cola เชียร์ฟุตบอลทีมไหนมากที่สุด” อาจต้องใช้วิธีการวิจัยรูปแบบอื่นๆ แต่ ณ ปัจจุบัน เมื่อสิ้นแคมเปญ “Win a Player” แล้ว ผมคิดว่า Coca-Cola หาคำตอบได้ไม่ยากเลย จริงไหมครับ ความเข้าใจผู้บริโภคที่ได้จากเครื่องมือ Mobile Marketing ชนิดนี้น่าสนใจครับ เพราะทราบได้เร็ว ชัดเจน แน่นอน ในแบบเป็นตัวเลข และต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับการวิจัยเชิงปริมาณรูปแบบอื่น

Coca-Cola Win a Player อาจเป็นแคมเปญการตลาดที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนอะไร เป็นเพียงการร่วมสนุกโดยส่งข้อความสั้น แบบพื้นฐาน ง่ายๆ แต่ด้วยแนวคิดที่น่าสนใจ มุ่งให้ตราสินค้าเข้าไปมีส่วนผูกพันกับกลุ่มเป้าหมาย แคมเปญก็ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ยิ่งเล่นง่าย ไม่ซับซ้อน ข้อความที่สื่อสารเข้าหากลุ่มเป้าหมายก็ทำได้ง่ายขึ้น อย่างกรณีของ Win a Player นี้ เพียงแค่พิมพ์ข้อความโฆษณาไปบนตัวผลิตภัณฑ์ ที่กระจายออกไปทั่วประเทศ หาซื้อได้ในเอื้อมมือ อาศัยความแข็งแกร่งของช่องทางการกระจายสินค้า ก็ประสบความสำเร็จได้ไม่ยากแล้วครับ
สุดท้ายนี้ ผมไปสะดุดเอาบทสัมภาษณ์ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ Coca-Cola กล่าวถึงความสำเร็จของแคมเปญนี้ และทิศทางของ Mobile Marketing ว่า น่าจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของแวดวงการตลาดทีเดียว เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์ของผู้บริโภคที่มากขึ้น บ่อยขึ้น สื่อมือถือจึงน่าจะเข้ามามีบทบาทมากกว่าโทรทัศน์ในอนาคต (อาจฟังดูไม่น่าเชื่อสำหรับบ้านเรานะครับ เพราะคนไทยนี่ดูทีวีมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งเลย กว่า 22 ชม. ต่อสัปดาห์ แต่ไม่ต้องห่วงครับ ผู้บริโภคบ้านเราปรับตัวไปตามสื่อ และเทคโนโลยีเสมอๆ) และภายในหนึ่งหรือหลายทศวรรษข้างหน้านี้ Coca-Cola น่าจะจัดสรรงบประมาณสำหรับ Mobile Marketing มากถึง 50% ของงบโฆษณาทั้งหมดเลยทีเดียว ฟังดูน่าตื่นเต้นนะครับ สวัสดีครับ