08 September 2007

มาดูโฆษณาแบรนด์ไทย ใน ตปท. กัน




ไม่เกี่ยวกับ Digital แต่น่าสนใจเลยแอบเอามาให้ดูกันครับ









05 July 2007

Lorem ipsum dolor sit amet

วันนี้ได้เอกสารจากลูกค้า มาตัวนึง เห็นแล้วเขียนว่า Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipisicing elit, sed do eiusmod tempor incididunt ut labore et dolore magna aliqua. Ut enim ad minim veniam .... มันคืออะไรหว่า คิดไปคิดมา อ้อ มันก็เจ้า filler text ที่ใช้กันทั่วไป เห็นน้องๆ designer ที่ทำงานก็ใช้ เวลาที่แบบว่าทำ mock งาน ก็ต้องใช้ไอ่ประโยคนี้แหล่ะ

ว่าแล้วก็สงสัย มันแปลว่าอะหยัง ... ก็เลย Google ดู

เชื่อมั้ย มันมีไอ่คำนี้ ซึ่งไม่มีความหมาย ตั้งกว่า 3 ล้านคำในโลก ก็เข้าๆ ไปไล่อ่านดู แค่อันแรกๆ ก็พบประวัติศาสตร์ของมัน ประมาณว่า ไอ่เจ้า ข้อความ ลอเร็ม อิปซัม โดโลร์ นี้ มันใช้กันมานานโข แล้ว เป็นหลายทศวรรษ แต่ทำไมคนถึงใช้กันได้ทั่วโลกขนาดนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีความหมาย ค้นไปค้นมา ก็เลยไปเจอคนมาอธิบายไว้ว่า หลายที่เลย

http://websitetips.com/articles/copy/lorem/
http://www.straightdope.com/columns/010216.html
http://www.lipsum.com/ --> อันนี้มีให้สร้าง text lorem ipsum เอาไปใช้เล่นๆ ได้ด้วย

ที่มาก็คือว่ากาลครั้งหนึ่ง เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว text นี้มันมาจาก คำพูดของ Cicero ปราชญ์ชาวกรีกนี่เอง แต่เจ้าสำนักพิมพ์ดันพิมพ์แล้วมัน scrambled ซักอย่าง ก็เลย โดนตัดกันกลางประโยคซะ ... แล้วก็น่ากลัวจะใช้ตามกันเรื่อยมาอย่างไม่มีเหตุผล

แต่อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ มีผู้รู้กล่าวไว้ในเว็บว่าเนื่องจาก text นี้มันอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถแปลความหมายได้ มันจึง "เหมาะ" อย่างมากที่จะไปใช้ทำตัวอย่าง เพราะเค้าว่ากันว่า ถ้า ใช้ตัวอย่างประโยคที่มีความหมายหรืออ่านรู้เรื่อง แล้วมันจะดึงความสนใจของลูกค้าที่กำลังจะต้อง approve layout หรือ design ไปนั่งอ่าน content แล้วก็มาว comment เรื่อง content ซะแทน (แม้ว่าจะรู้แล้วว่าสิ่งที่ต้อง approve คือ layout & design)

นี่เราจะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหรือเปล่าเนี่ย ใครรู้แล้วก็ขำๆ ละกันนะจ๊ะ ...

06 April 2007

ดิจิตอลริมถนน

สวัสดีครับ ขณะที่ท่านอ่านบทความนี้ ท่านอยู่ที่ไหนครับ … ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ผมนั่งอยู่ริมถนนในซอยทองหล่อ เขียนไปมองน้ำพุไป อย่าอิจฉานะครับ … ระยะหลังมานี้ Wi-Fi เริ่มมีให้ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้วครับ ทองหล่อ เป็นหนึ่งซอยที่มี Wi-Fi ใช้ได้เกือบทั้งซอย และสัญญาณแรงขึ้นไปถึงตึกที่ผมนั่งทำงานอยู่ปัจจุบันทีเดียว นอกจากนี้ก็ยังมีสยามสแควร์ นับได้ว่านักเล่นเน็ตบ้านเราโชคดีไม่น้อยเชียวครับ (แม้จะยังไม่โชคดีเท่าสิงคโปร์ หรือ สเปน ที่มีใช้กันในเกือบทุกพื้นที่) …

แต่ช้าก่อนครับ ดิจิตอลริมถนน อย่างที่หัวข้อบอกไว้ไม่ได้หมายถึงเรื่อง Wi-fi อย่างเดียวครับ อันที่จริงผมกำลังจะแนะนำถึงการผสานสื่อดิจิตอล เข้ากับสื่อ OOH (Out of Home Media) ซึ่งผมเรียกแผลงๆไปเองว่า ดิจิตอลริมถนน นี่เองครับ … ช่วงปลายปีที่แล้วใครที่มีโอกาสไปสยามเซ็นเตอร์คงจะได้เห็นโฆษณารองเท้าไนกี้ขนาดใหญ่บนฝาผนัง ซึ่งถ้าลองสังเกตแล้วใครที่สนใจ ก็เลือกที่จะดาวน์โหลดข้อมูลรองเท้านั้นออกจากแผ่นป้ายโฆษณาได้ไม่ยากนะครับ

2D Barcode
โฆษณาอย่างของรองเท้าไนกี้ที่ว่านั้น มีทางเลือกให้คนรักรองเท้าได้ดาวน์โหลดรองเท้า 2 ทางด้วยกันครับ วิธีแรกคือการเอา โทรเข้าหมายเลขโทรศัพท์ 026963888 แล้วก็ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้บอกไว้ ระบบก็จะส่งลิงค์มาให้ดาวน์โหลดข้อมูลรองเท้าเอง ส่วนอีกวิธีหนึ่ง ดูจะทันสมัยกว่าแบบแรกอยู่มาก คือการใช้กล้องที่อยู่กับตัวโทรศัพท์ไปจ่อที่รูป บาร์โค้ด ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม เครื่องโทรศัพท์จะจัดการแปลความเจ้า Bar Code ที่เห็น ว่าเป็นรองเท้ารุ่นไหน อย่างไร แล้วก็ส่งเจ้ารองเท้านั้นเข้าเครื่องมือถือเราได้ทันทีครับ
(สนใจเรื่อง 2D Barcode เข้าไปดูที่
http://www.mobilelife.co.th/mobilelife/t/barcodeaccess/index.html)

Bluecasting
การแข่งขันวิมเบิลดันปี 2006 ไอบีเอ็ม (โดยโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์) จัดการเนรมิต ต้นไม้วิเศษขึ้นมาตามท้องถนน โดยรอบบริเวณการแข่งขัน ใครที่เดินมาที่ต้นไม้นี้ ไม่ต้องอธิษฐาน เพียงแต่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา เปิด Bluetooth ก็พร้อมที่จะรับข้อมูลผลการแข่งขันได้ทันที นอกจากจะรับผลการแข่งขันแล้ว ยังสามารถเข้าไปเลือกลงทะเบียนรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมจากไอบีเอ็ม ได้อีกเช่นกัน นอกเหนือจากต้นไม้วิเศษแล้ว โอกิลวี่ยังสร้าง สนามวิเศษ และ … เก้าอี้กรรมการวิเศษอีกด้วย … การส่งผ่านข้อมูลโฆษณาผ่านเจ้า Bluetooh อย่างที่ว่านั้น ถูกเรียกว่า “Bluecasting” ซึ่งในระยะหลังมานี้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น คาดว่าปีนี้คงได้เห็นมากขึ้นในเมืองไทยเราครับ เตรียมเปิด Bluetooth ไว้รอรับกันได้เลย
(ดูภาพประกอบ เข้า Google.co.th แล้ว search ด้วย keyword “special tree wimbledon 2006”)

Interactive OOH Media
เจ้า Interactive Media ตัวนี้เปิดโอกาสให้เราได้ “เล่น” กับงานโฆษณาผ่านทาง เทคโนโลยีเซนเซอร์จับการเคลื่อนไหว และ/หรือ การรับภาพผ่านทาง Digital Camera แล้วนำไปประมวลผล เพื่อเลือกแสดงชิ้นงานโฆษณาออกมาผ่านทางการเคลื่อนไหวของเรา อ่านแล้วเห็นภาพได้ยาก ต้องลองเข้าไปดูตัวอย่างงานครับ ที่
http://www.youtube.com/watch?v=IqVgPZlKpmc สำหรับในบ้านเรา สื่อตัวนี้มีมาโชว์ให้เห็นตั้งแต่งาน TAM ปีที่แล้วครับ เราอาจจะได้เห็นบูธแสดงเทคโนโลยี ของ NOKIA เมื่อเดินเข้าไปใกล้ จะเห็นแสงจากโปรเจกเตอร์ฉายลงมา พอเราเอามือชนกัน แสงที่ฉายลงมาก็แปลงร่างเป็นโทรศัพท์มือถือ NOKIA ฉายลงมาในมือของเราเรียบร้อยทีเดียว

นอกเหนือจากสองสามเทคโนโลยีข้างต้นแล้ว ยังมีรูปแบบแปลกๆ ให้เห็นอีกนะครับ เช่น Mobile Video Advertising ลองดูที่
http://www.youtube.com/watch?v=2FDrkxB2QFY ได้ และเตรียมติดตามเรื่องใหม่ๆ อย่าง ของ Location-based SMS ด้วยนะครับ ได้ข่าวว่าทางผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เริ่มที่จะเปิดให้บริการทางด้านโฆษณากันบ้างแล้ว ต่อไป เราอาจจะได้รับ SMS โปรโมชั่นร้านอาหารตอนที่เราอยู่ใกล้ๆ ก็ได้นะครับ

กว่าจะเขียนจบบทความ ก็กลับมานั่งอยู่ในออฟฟิศ เสียแล้วครับ สำหรับท่านไหนที่สนใจเรื่องของ ดิจิตอลริมถนน เขียน e-mail เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้นะครับ ทุกวันนี้อะไรๆ ก็พัฒนาไปเร็ว ไล่อ่านไล่ศึกษาคนเดียวอาจจะไม่ทันเสียแล้วครับ … สวัสดีครับ

10 March 2007

7 เรื่องน่ารู้เมื่อเริ่มใช้สื่อดิจิตอล

ปี 2550 นี้ เชื่อเหลือเกินครับว่าพวกเราทุกท่านจะได้เห็นแคมเปญการตลาด ของแบรนด์ต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมากในสื่อดิจิตอล บางแบรนด์ที่เริ่มต้นทำมานานแล้ว สะสมความรู้ไว้มาก ยิ่งทำก็ยิ่งได้ผลตอบรับดีมากขึ้น บางแบรนด์ก็เพิ่งจะจัดสรรงบประมาณมาทดลองสื่อดิจิตอลนี้ บางแบรนด์มั่นใจเต็มที่ บางแบรนด์ผู้ใหญ่สั่งมา และบางแบรนด์ยังกล้าๆ กลัวๆ ฉบับนี้จึงขอฝากเรื่องน่ารู้สำหรับท่านที่สนใจเริ่มใช้สื่อนี้ (รวมถึงหลายท่านที่ใช้งานอยู่ เชิญพิจารณาครับว่าตรงกับสิ่งที่ท่านคิดหรือทำอยู่หรือเปล่า)

1. สื่อดิจิตอล ทำไม่ได้ทุกอย่าง –ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในบ้างเรามีแค่ 10 ล้านคน เทียบกับประชากรทั้งหมดยังน้อยอยู่เลย เพราะอย่างนั้นถ้าหวังผลวงกว้างเหมือนการใช้โทรทัศน์ คงเป็นไปไม่ได้ (แต่ถ้าสนใจกลุ่มเฉพาะ 15-29 กรุงเทพฯ ละก็ ใช้ได้ไม่เลวเลยครับ วัยรุ่นบางคนไม่ดูทีวีแล้ว ส่วนคนทำงานหลายคนอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในที่ทำงาน มากกว่าอยู่หน้าจอทีวีหลายเท่าตัวนัก) ส่วนโทรศัพท์มือถือนั้นมีคนใช้มากถึง 35 ล้านคน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์ และโครงข่าย ทำให้ไม่สามารถทำงานโฆษณาที่เน้นภาพเสียงสมบูรณ์แบบได้

2. แต่สื่อดิจิตอลทำบางอย่างที่สื่ออื่นทำไม่ได้ – สื่อสารสองทางแบบทันทีทันใด (Interactivity) เข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นรายบุคคล (Identifiable) จัดสรรข้อความโฆษณาที่เหมาะกับแต่ละคนได้ (Personalization) เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลได้อย่างดี (Database Collection) นำเสนอโฆษณาในเวลาที่ผู้บริโภคต้องการและกำลังค้นหา (Search Engine Marketing) ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และข้อความได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้งบประมาณจำกัด (Real-time monitoring & Adjustment) ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเอกลักษณ์ของสื่อดิจิตอล ที่เราหาไม่ได้ในสื่อชนิดอื่น

3. เน้นผลตอบรับ (ROI) เชิญทางนี้ – หลายคนบอกกันว่าสื่อนี้เชื่อถือได้ยาก เพราะวัดผลไม่ได้ ฟังแล้วก็น่าแปลกใจครับ เพราะสื่อนี้วางอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยี ทุกการเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยน ทุกการตอบสนองของผู้บริโภคเราสามารถบันทึกไว้ในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมนิยามตัววัดที่จะใช้ และจัดเตรียมระบบการวัดผลในขั้นตอนต่างๆ ให้ครบถ้วน

จากข้อ 1 ถึง 3 นี้เองครับ เราจึงมักจะเห็นหลายๆ แบรนด์เลือกที่จะดึงเอาสื่อดิจิตอลไปผสานกับสื่อหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ วิทยุ สื่อกลางแจ้ง รวมไปถึงกิจกรรมการตลาดอื่นๆ โดยดึงเอาจุดแข็งของแต่ละสื่อมาประกอบกับเป็น Integrated Campaign

4. เก่าแต่ชัวร์ หรือใหม่หวือหวาน่าลุ้น – สำหรับท่านนักการตลาดที่สนใจใช้สื่อนี้ ต้องบอกก่อนครับว่าจนถึงปัจจุบันสื่อนี้มีอายุเกือบ 10 ปีแล้ว บางท่านอาจคาดหวังว่าหากใช้สื่อดิจิตอลแล้ว จะต้องเห็นอะไรใหม่ๆ เสมอไป แต่ในความเป็นจริงแล้วหากท่านคาดหวังผลตอบรับที่แน่นอน เครื่องมือที่เลือกใช้อาจเป็นเครื่องมือแบบเดิมๆ เช่นการใช้แบนเนอร์โฆษณา หรือการทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหา เนื่องจากมีกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จมาก่อนมาก ท่านจึงคาดการณ์ความสำเร็จได้ ส่วนเครื่องมือที่ออกมาสู่ตลาดใหม่ๆ นั้น หากท่านจะเลือกใช้ อาจต้องเสี่ยงกับความไม่แน่นอนของผลตอบรับบ้าง แลกกับภาพลักษณ์ที่เป็นความหวือหวาแหวกแนวเป็นสมัยใหม่

5. ยึดมั่นกับวัตถุประสงค์ – เช่นเดียวกับเครื่องมือการตลาดทั่วไปครับ เครื่องมือแต่ละตัว ก็มีลักษณะเฉพาะ เหมาะกับวัตถุประสงค์ของแคมเปญแต่ละแบบ เช่น ใครสนใจเรื่อง ผลตอบรับในแง่ยอดขาย การใช้เครื่องมือที่วัดผลได้ละเอียด เน้น ROI (เช่น Google Adwords หรือ ลงทุนติดตั้งตัววัดอย่าง Doubleclick) ก็ดูจะเหมาะมาก ส่วนถ้าใครสนใจเรื่องความรับรู้หรือ Awareness ท่านอาจต้องเลือกใช้แบนเนอร์โฆษณาลงในเว็บไซต์ที่มี ราคาต่อหน่วยการแสดงผลต่ำ ไม่ว่าจะเป็น ราคาต่อการแสดงผล (CPM) หรือราคาต่อคลิก (CPC) รวมถึงเว็บไซต์ที่มีจำนวนผู้เข้าชมสูง

6. อย่าแปลกใจเรื่องราคา – สำหรับสื่อดิจิตอลในบ้านเรา ยังไม่ได้มีการจัดทำมาตรฐานของสื่อมากนัก โดยเฉพาะมาตรฐานด้านราคา เช่น เว็บไซต์เฉพาะทางแต่ละรายยังมีแนวคิดในการตั้งราคาต่างกันมาก (หรือบางเว็บไซต์อาจไม่ทราบวิธีการตั้งราคาเลยด้วยซ้ำ) ส่วนเว็บพอร์ทัลใหญ่ๆ ส่วนใหญ่มีนโยบายราคาชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติแล้วการเสนอราคารวมทั้งส่วนลด ยังมีความยืดหยุ่นสูงขึ้นกับพนักงานขายแต่ละคน ดังนั้น ราคาที่ได้เสนอเข้ามาในแต่ละครั้งอาจมีความแตกต่างกันได้มาก อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับสื่อชนิดอื่นๆ ยิ่งซื้อมากยิ่งได้รับส่วนลดมาก หลายๆ แบรนด์จึงเลือกซื้อสื่อผ่านทาง Media Agency เพื่อให้ได้ราคาถูกลง

และข้อ 7 ทิ้งท้ายบทความฉบับนี้ไว้ด้วย ภาษิตจีน ที่ผมขอคัดลอกต่อมาจากผู้ใหญ่ในวงการโฆษณาอีกท่านหนึ่งว่า I hear … and I forgetI see … and I rememberI do … and I understandหากท่านสนใจอยากทำความเข้าใจสื่อดิจิตอล … ละสายตาจากบทความนี้ แล้วเตรียมตัวออก สตาร์ทแคมเปญแรกของท่านกันดีกว่าครับ

31 January 2007

Digital Advertising Trend 2007

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่าใช้เวลาคิดอยู่นานสองนานนะครับ ว่าจะกล้าเขียนเรื่องนี้หรือเปล่า เนื่องจากได้อ่านข้อเขียนบทความหลายชิ้นที่กล่าวถึงแนวโน้มโฆษณาบนสื่อดิจิตอลซึ่งส่วนใหญ่พูดถึงออนไลน์ ในปีนี้ ก็เกรงว่าจะเขียนเรื่องซ้ำน่าเบื่อไปเสีย แต่พอทางบิสิเนสไทยบอกให้ทราบว่า ปีนี้เน้น “ความคิดเห็น” ได้มากขึ้น จึงค่อยผ่อนคลายสบายใจ มาลองดูกันครับ แนวโน้มปีนี้ น่าจะมีอะไรบ้างครับ

เล่นข้ามสื่อ (Cross Media or Integrated Media)
แต่ไหนแต่ไรมาเราก็มักจะเชียร์นักการตลาด ให้เห็นลักษณะเฉพาะของตัวสื่อเอง เช่นเดียวกับของทุกอย่างครับ มีจุดดีก็ต้องมีจุดด้อย เราก็อยากเห็นแคมเปญโฆษณาที่เอาจุดดีของสื่อ เช่น การเก็บฐานข้อมูล และระบุตัวตนได้ การปรับแต่งเนื้อหาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในต้นทุนที่ต่ำ การแก้เกมส์กลางทางได้เพราะวัดผลได้เร็วแม่นยำ ฯลฯ ไปเสริมกับสื่อออฟไลน์ที่มีพลังในการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้กว้างกว่า หรืองานสร้างสรรค์ที่มีรายละเอียดมากกว่า ขนาดใหญ่กว่า ดึงดูดสายตาได้มากกว่า ซึ่งต้องเรียนว่าในปี 49 ที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นเยอะขึ้นในบ้านเรา และเชื่อเหลือเกินว่าในปี 50 ซึ่งนักการตลาดหันมาชายตามองสื่อดิจิตอลมากขึ้น เราน่าจะเห็นแคมเปญข้ามสื่อมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์กับอินเตอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์กับอินเตอร์เน็ต มือถือ สื่อ out of home กับมือถือ หรือการจับคู่แบบอื่นๆ ตามความสร้างสรรค์

ภาพเสียงสมบูรณ์ผ่านวีดีโอ (Video Advertising)
ในภาวะที่อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในบ้านเราโตเหมือนติดจรวด (เท่าที่ทราบเร็วที่สุดในเอเชียเลยนะครับ) เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกชม content หรือเนื้อหาที่มีความสมบูรณ์ทางภาพและเสียงได้มากขึ้น และส่งผลมายังผู้ผลิต content รวมถึงนักการตลาดที่จะเล่นกับเรื่องของ วีดีโอ กันอย่างสนุก จึงไม่แปลกที่เราเห็น Video Banner ปรากฏขึ้นในเว็บไซต์ชั้นนำอย่างมาก ในช่วงไตรมาสหลังของปี 49 และน่าจะเห็นเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยครับในปี 50 นี้

แสดงผลในอุปกรณ์หลากหลาย (Multi-Device)
นับวัน โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ ใกล้จะกลายเป็นของอย่างเดียวกันไปทุกที แต่ลระหว่างกลางนี้ เราจะได้เห็นอุปกรณ์ลูกผสมเกิดขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะ Smart Phone หรือ PDA ในบ้านเราที่บูมสุดๆ ในปี 49 และราคาน่าจะถูกลงด้วยในปี 50 เมื่อเป็นเช่นนี้จึงน่าเชื่อว่าอัตราการใช้งานสื่ออินเทอร์เน็ตจากอุปกรณ์เคลื่อนที่อื่นๆ น่าจะมากขึ้นไปด้วย ผู้ผลิต เว็บท่าและแน่นอนนักการตลาด คงเตรียมตัวรับเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกัน

เลิกแทงตาแต่หันมามีส่วนร่วม (Consumer Engagement)
ถ้าทิศทางโฆษณาบ้านเราตามรอยประเทศอื่นๆ ที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ปี 50 นี้เราน่าจะเห็น Banner Ad บางชนิดน้อยลง ชนิดที่ว่านั้นคือ Banner ที่มีลักษณะทิ่มแทงสายตา เช่น Floating Ad หรือ Pop-up Ad ที่เบียดบังเนื้อหาสาระของเว็บไซต์ ก็ลองคิดดูสิครับ แม้แต่ Browser รุ่นหลังๆ หรือ Toolbar แต่ละยี่ห้อที่เราเอามาติด ก็ล้วนแต่มีระบบป้องกัน Pop-up ทั้งสิ้น น่าจะบอกนักการตลาดได้ชัดว่าเรื่องนี้คือสิ่งที่คนไม่ต้องการ แนวการโฆษณาจึงน่าจะไปให้ความสนับสนุนเว็บไซต์ในรูปแบบของ Sponsorship หรือทำบทความเชิงโฆษณา ได้มากขึ้น รวมไปถึงโฆษณาในรูปแบบแปลกๆ ที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน โดยไม่ทำให้รำคาญใจ

E-mail และ SMS Marketing
ด้วยว่าสื่อดิจิตอลนี้เป็นเครื่องมืออย่างดีในการเก็บฐานข้อมูล ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นักการตลาดจะหันมาเก็บ เก็บ เก็บ และเก็บ ชื่อ อีเมล์ เบอร์โทร ลูกค้าเอาไว้ใช้ในทางการตลาดต่อไป โดยเฉพาะเมื่อกฎ กติกา ในด้านการโฆษณาสินค้าบางจำพวกยังไม่ชัดเจน การเก็บ Opt-in อีเมล์ หรือเบอร์โทร น่าจะเป็นช่องทางที่สะดวก และเมื่อฐานข้อมูลมีขนาดใหญ่ขึ้น การจัดส่งข้อมูลการตลาดให้ตรงกับความสนใจของแต่ละคนก็จะมีความสำคัญมากขึ้น

Google
สุดท้ายคงหนีไม่พ้นการรุกคืบเข้ามาของสามค่ายยักษ์ใหญ่ ที่หันมาเปิดบริการ Advertising Solution กันอย่างมาก แต่สำหรับคนไทยแล้วแทบทั้งหมดก็ยังใช้งาน Google และเราน่าจะเริ่มเห็น โฆษณาใน Google มากขึ้นทั้งในรูปของ Search Engine Marketing หรือแบบที่ลงในเว็บไซต์เครือข่ายพันธมิตรของ Google (ที่มีจำนวนสูงขึ้นอย่างมากเช่นกัน)

ตกหล่นเรื่องสำคัญเรื่องไหนไปบ้างหรือเปล่าครับ แนะนำกันมาได้นะครับ เผื่อจะช่วยกันขยายในบทความครั้งหน้า สวัสดีปีหมูทองครับ :-)