26 October 2006

It’s not WHAT you know, but WHO you know

เห็นด้วยกับคำกล่าวข้างต้นไหมครับ สำหรับพวกเราหลายคนอาจให้ความสำคัญกับเรื่องของ “สังคม” หรือ “คอนเนคชั่น” สัปดาห์นี้ขออนุญาตแนะนำทุกท่านให้รู้จักกับบริการบนอินเตอร์เน็ตที่ เชื่อม “คน” กับ “คน” เข้าด้วยกัน พา “เพื่อนเก่า” ที่ห่างหายไม่ได้ติดต่อกันมานาน กลับมาเจอกัน หรือแม้กระทั่งเปิดโอกาสให้เราพบ “เพื่อนใหม่” จากกลุ่ม “เพื่อนของเพื่อน” เราอาจเรียกบริการจำพวกนี้ได้ว่า Social Network Service (SNS) นั่นเองครับ

หลายท่านที่มีประสบการณ์การใช้งานคงจำได้นะครับ จู่ๆ เราก็ได้รับอีเมล์จากเพื่อนของเราบอกว่าเข้าไปสมัครบริการนี้สิ เราก็เข้าไป ลงทะเบียน ใส่ข้อมูลส่วนตัว เสร็จแล้วเราก็พบว่า เรามี “เพื่อน” อยู่ในระบบทันที 1 คน (คือคนที่ชวนเรามานั่นเอง) หลังจากนั้นก็เราก็ชักคิดถึงเพื่อนคนอื่นๆ ก็ค้นหาจากระบบดูว่ามีเพื่อนเราคงไหนอีกไหมที่ใช้เว็บนี้เหมือนๆ กัน ก็ไปชวนเข้ามาอยู่ในกลุ่มเพื่อนเรา ใครที่ไม่อยู่ เราก็ส่งอีเมล์ไปชวนให้มาเข้าระบบเสีย หลังจากนั้นเราก็อาจเริ่มรู้จักเพื่อนใหม่ๆ จากในระบบนี้เอง … คงเป็นเพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมกระมังครับ เราถึงเสียเวลานั่งทำอะไรอย่างที่ว่าได้อย่างเพลิดเพลิน

และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไม Friendster.com ถึงมีผู้ใช้งานกว่า 7 ล้านคนภายในปีเดียว Hi5.com มีคนไทยเข้าไปเล่นอยู่ 250,000 คนเข้าไปแล้ว เช่นเดียวกับ Ryze.com WAYN.com ที่มีผู้ใช้งานหลักล้าน รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง Google ก็เปิด Orkut.com ให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้สัมผัสด้วยเช่นกัน (ขอนอกเรื่องหน่อยนะครับ ที่ Google นี้เขามีนโยบายให้พนักงานใช้เวลา 20% ของการทำงาน ทำอะไรก็ได้อย่างอิสระเพื่อให้เกิดการค้นคว้าหาความรู้ และเจ้า Orkut.com นี่เป็นผลงานของพนักงานคนหนึ่ง ที่ใช้เวลา 20% ที่ว่านั่งสร้างระบบนี้ขึ้นมาครับ ทาง Google เลยตั้งชื่อตามชื่อพนักงานคนนั้นเสียเลยครับเพื่อเป็นการให้เกียรติ)

เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสมา เข้าใจว่า Hi5 น่าจะเป็นที่นิยมของคนไทยมากกว่าเพื่อน แนวการใช้งานเป็นลักษณะแนวสังสรรค์บันเทิง สนุกๆ มากกว่า ดารา นักร้อง นางแบบ หลายคนก็มาเล่นอยู่ในนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมี SNS รูปแบบที่เป็นธุรกิจ และมีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลายเช่นกัน

Linkedin.com ประกาศไว้บนหน้าเว็บว่ามีกลุ่มคนทำงาน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร เข้าไปเป็นสมาชิกเกิน 7 ล้านคนแล้ว เนื่องจากเป็นเครือข่ายที่เน้นด้านธุรกิจ จึงไม่มีลูกเล่นอะไร ไม่มีการให้โพสต์ภาพ หรือให้ข้อมูลส่วนตัวมากนัก และให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของสมาชิกสูงมากครับ แม้กระทั่งคำที่ใช้เรียกสมาชิกในเครือข่าย ก็เรียกว่า “Connection” นะครับ ไม่เรียกว่า “Friend” J

การรู้จักกันใน Linkedin ส่วนใหญ่ก็เพื่อทำธุรกิจ เท่าที่อ่านดูมีผู้ให้บริการทางธุรกิจว่า 200,000 รายอยู่ในนี้นะครับ อีกส่วนหนึ่งที่นิยมมากก็คือเรื่องของการสรรหาพนักงานภายในเครือข่ายดังกล่าว ว่ากันว่า มี Recruiter เข้าไปใช้งาน Linkedin ร่วม 60,000 คนแล้วครับ ผู้บริหารของบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งถึงกับกล่าวว่า การใช้งาน Linkedin ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานได้เกือบล้านบาททีเดียวครับ หรืออย่างที่ Deloittle ก็ประหยัดค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานได้ถึง 20% ด้วยการชวนให้พนักงานเก่าที่ลาออกไปแล้วกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง (แบบที่เรียกว่า Boomerang)

ประโยชน์จาก SNS เชิงธุรกิจในแง่มุมอื่นๆ เช่น การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า คู่ค้า อย่างไม่เป็นทางการ (SNS อย่าง Hi5 เปิดโอกาสให้เราได้รู้จักคนอื่นๆ ในด้านส่วนตัวมากขึ้น) บางครั้งก็ช่วยเราค้นหาตัว “ผู้รู้” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” ในเรื่องเฉพาะทางบางเรื่องได้ดี หรือใครที่ขายสินค้า บริการ บางครั้งอาจต้องการหา บริษัทพันธมิตร เพื่อมาร่วมกันเสนองานก็สามารถทำได้ ในแง่การบริหารบุคคล SNS ยังช่วยให้เราเข้าใจถึง ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในองค์กร (ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามสายบังคับบัญชา หรือผังองค์กรนะครับ แต่เป็นไปโดยส่วนตัวมากกว่า) ซึ่งเจ้าความสัมพันธ์ที่ว่านี้จะบอกถึงการ “ไหล” ของข้อมูลภายในองค์กร ซึ่งก็นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน นำไปสู่การพัฒนาองก์ความรู้ภายในองค์กรได้ครับ

ในเชิงโฆษณา การใช้งาน SNS ส่วนใหญ่ต้องลงทะเบียนและให้ข้อมูลส่วนบุคคล (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ข้อมูลจริง เพราะใช้ในงานติดต่อกับ คน จริงๆ) การลงโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (ไม่ว่าจะเป็นตาม เพศ อายุ การศึกษา งานอดิเรก เรื่องที่สนใจ ฯลฯ) จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจไม่น้อยครับ

เล่ามาเสียเยอะ ใช่ว่า SNS จะมีแต่ด้านดีนะครับ ปัญหาของผู้ใช้งาน SNS ในปัจจุบันก็มาจากความนิยมที่มากเกินนี่เองครับ ทำให้เกิดเว็บ SNS ขึ้นอีกมากมาย จนเราอาจไปตามลงทะเบียนที่โน่นที่นี่ที่นั่นไม่ไหว เพื่อนคนหนึ่งอยู่ใน Hi5 เพื่อนอีกคนอยู่ใน WAYN เพื่อนอีกคนเล่นแต่ Linkedin แบบนี้ก็งงเหมือนกันนะครับ และด้วยเหตุผลนี้เอง SNS บางที่ถึงมี “จำนวนสมาชิก” อยู่มาก แต่ “จำนวนสมาชิกที่ใช้งานสม่ำเสมอ” หรือ Active members กลับมีไม่มากนัก ผู้ใช้งานหลายรายถึงกับเรียกหา Software ที่จะช่วยรวม SNS เข้าด้วยกัน ซึ่งดูแล้วลำบากสักหน่อย ส่วนหลายรายก็ถอดใจหันกลับไปติดต่อขาประจำผ่านทาง Instant Messaging เสียมากกว่า

มีทั้งข้อดี ข้อด้อย แบบนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับว่าอนาคตของ SNS จะเป็นอย่างไร ระหว่างนี้เราก็เลือกใช้ประโยชน์จากข้อดีของ SNS กันตามต้องการไปก่อนแล้วกันนะครับ … ทิ้งท้ายบทความนี้ฝาก Link ไปดูกันเล่นๆ ครับกับคำกล่าวของผู้บริหาร Youtube.com ที่เพิ่งขายกิจการไปให้กับยักษ์ใหญ่อย่าง Google ด้วยมูลค่าไม่มากไม่น้อย ประมาณ 6 หมื่นกว่าล้านบาทได้ครับ ดูร่าเริงสดใสกันดีนะครับ
http://www.youtube.com/watch?v=QCVxQ_3Ejkg

พบกันใหม่ครั้งหน้าครับ สวัสดีครับ