26 November 2006

ส่องกล้องมอง พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจได้ทราบข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผ่านร่าง พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กันบ้างนะครับ อันว่า พรบ. ใหม่นี้ถือว่าเป็น พรบ. ที่เริ่มต้นร่างกันมานานพอสมควรแล้ว โดยเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ 6 ฉบับ ที่เริ่มกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 แล้ว และผู้เขียนเห็นว่าเนื้อหาของ พรบ. ดังกล่าวซึ่งผ่านการรับหลักการในสภานิติบัญญัติไปเมื่อ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่พวกเราชาวไซเบอร์ รวมถึงนักการตลาดน่าจะสนใจใคร่รู้ จึงขออนุญาตนำเอาประเด็นสำคัญใน พรบ.มานำเสนอ ในที่นี้

ในร่าง พรบ. ดังกล่าว ประกอบด้วย 28 มาตรา นอกเหนือจาก มาตราที่ 1-4 ที่เป็นการให้คำนิยามของคำว่า “ระบบคอมพิวเตอร์” “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” “ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์” และคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็แบ่งออกเป็น 2 หมวด หมวดแรกจำนวน 11 มาตรา นั้นกำหนดเกี่ยวกับฐานความผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนหมวดที่สองอีก13 มาตรากำหนดเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ลองมาดูกันนะครับว่ามีเรื่องอะไรควรรู้บ้าง

สำหรับพวก Hacker Cracker ทั้งหลาย ควรทราบความผิดตามมาตรา 5 – 8 ไว้ให้ดีครับ พวกที่ชอบแอบเข้าบ้าน (ระบบ) ของคนอื่น ที่เจ้าของบ้านได้ป้องกันไว้แล้วแต่ยังพยายามเจาะเข้าไปจนได้ ไม่ว่าจะเข้าไปทำหรือไม่ทำอะไรก็ตาม มาตรา 5 กำหนดโทษไว้ให้จำคุกหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท … ความเห็นของผู้เขียนว่าบทลงโทษอาจจะเบาไปสักหน่อยนะครับ คงต้องติดตามกันต่อไป

ส่วนในมาตรา 6 ท่านไหนที่ได้ไปรู้วิธีเข้าระบบหรือรู้ password ของระบบแล้วเที่ยวเอาไปบอกคนอื่น เตรียมตัวครับ โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ข้อนี้ยอมความไม่ได้นะครับ
มาตรา 7 คล้ายกับมาตรา 5 มาก แต่ระบุชัดเจน ถึงการ “เข้าถึงข้อมูล” (มาตรา 5 นั้นเข้าถึงแค่ “ระบบ”) อันนี้โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท และยอมความได้เช่นเดียวกับมาตรา 5 จนผู้เขียนได้รับฟังความเห็นจากหลายท่านเห็นว่าน่าจะรวมกันเสียก็ดีเหมือนกัน

พวกชอบดักจับข้อมูล ต่อไปมีความผิดแล้วนะครับ ตามมาตรา 8 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีข้อยกเว้นให้กับการดักจับตามคำสั่งของเจ้าของข้อมูลเอง

พวกไม่หวังดี ชอบทำลาย ให้เกิดความเสียหายด้วย เตรียมตัวรับโทษหนักขึ้นได้ครับ เพราะในมาตรา 9 กำหนดให้ผู้ที่ทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือถ้าชอบก่อกวนให้ระบบคนอื่นถูกระงับ ใช้งานตามปรกติไม่ได้ อันนี้มาตรา 10 กำหนดบทลงโทษไว้หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน และถ้าส่งผลถึงด้านความมั่นคงของประเทศโทษอาจสูงขึ้นถึง จำคุก 15 ปี หรือปรับมากถึง 300,000 บาท หรือเกิดอันตรายต่อร่างการหรือชีวิตของประชาชน โทษก็สูงขึ้นไปถึงขั้นประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกสิบถึงยี่สิบปีได้เลยนะครับ ส่วนในมาตรา 12 นั้น อ่านดูอาจจะ งง งง เล็กน้อยนะครับ แต่ถ้าบอกว่าเป็นการกำหนดบทลงโทษสำหรับพวกที่จัดทำ หรือเผยแพร่ spyware คงเป็นที่คุ้นเคยกันดี

อ่านดูในมาตรา 5 – 12 ข้างต้นนั้น อาจจะดูไกลตัวผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตธรรมดาไปสักหน่อย แต่ตั้งแต่มาตรา 13 เป็นต้นไปทุกท่านควรทราบไว้ให้ดีครับ เพราะว่าด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ ทำให้บุคคลที่สามเสียหาย เป็นความผิดต่อความมั่นคง หรือข้อมูลอันลามก ล้วนแล้วแต่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งในมาตรานี้ ผู้เขียนอยากจะย้ำเป็นพิเศษครับ เพราะโทษนั้นไม่ได้มีเฉพาะผู้ที่เป็นคนสร้าง ทำ ผลิต เท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมถึงคนที่ เผยแพร่ หรือส่งต่อด้วย ต่อไปทุกท่านต้องระวังนะครับ เมื่อได้รับอีเมล์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเข้าข่ายความผิดดังกล่าว ที่ผ่านมาเราอาจจะกด forward ส่งต่อไปไม่ได้คิดอะไร แต่ต่อไปจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายเช่นกันครับ และบทลงโทษที่กำหนดไว้ก็ไม่ได้ต่างจากผู้ที่เป็นคนนำเข้าข้อมูลดังกล่าวเสียด้วย

ส่วนมาตราที่ 14 ถือว่าเป็นมาตราที่เหล่าผู้ดูแลเว็บ หรือดูแลระบบต้องให้ความใส่ใจครับ เพราะหากมีผู้อื่นนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิด เข้าสู่ระบบที่เราดูแล และเรารับทราบและไม่ได้ลบข้อมูลนั้นในทันที ก็ถือว่ามีความผิดไปตามมาตราที่ 13 กับเขาด้วย น่าคิดนะครับ ว่าในทางปฏิบัติผู้ดูแลเว็บจะจัดการกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้เร็วแค่ไหน และคำว่า ทันที นั้นจะหมายถึงอย่างไร

สุดท้ายในหมวดนี้ มาตรา 15 นั้นเน้นเรื่องภาพตัดต่อ ที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงโดยเฉพาะ ทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ยอมความได้ครับ)

ส่วนในหมวดที่สอง เรื่องเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้เขียนขอไม่กล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้นะครับ แต่อยากเรียนเชิญให้ทุกท่านได้ลองไปศึกษาเพิ่มเติม และแสดงความเห็นเกี่ยวกับ พรบ. ใหม่นี้ได้ที่
http://wiki.nectec.or.th ลองมองดูกลางๆ หน้าจะเจอ คำว่า ร่างพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... HOT!! หรือถ้าไม่เจอ ก็ใส่คำว่า ร่างพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... ลงในช่อง search นะครับ หรือถ้าสนใจอ่านความเห็นเพิ่มเติมก็มีผู้ให้ความเห็นไว้ที่ http://www.biolawcom.de อีกที่หนึ่ง พบกันใหม่ครั้งหน้าครับ สวัสดีครับ