21 September 2008

ย้ายแล้วจ้า - moved to www.siwat.com

นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะย้ายไป update รวมกับเรื่องอื่นๆ ที่ http://www.siwat.com แล้วนะครับ ขอเชิญท่านผู้สนใจติดตามต่อได้ที่นั่นเลยครับ :-)

08 September 2007

มาดูโฆษณาแบรนด์ไทย ใน ตปท. กัน




ไม่เกี่ยวกับ Digital แต่น่าสนใจเลยแอบเอามาให้ดูกันครับ









05 July 2007

Lorem ipsum dolor sit amet

วันนี้ได้เอกสารจากลูกค้า มาตัวนึง เห็นแล้วเขียนว่า Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipisicing elit, sed do eiusmod tempor incididunt ut labore et dolore magna aliqua. Ut enim ad minim veniam .... มันคืออะไรหว่า คิดไปคิดมา อ้อ มันก็เจ้า filler text ที่ใช้กันทั่วไป เห็นน้องๆ designer ที่ทำงานก็ใช้ เวลาที่แบบว่าทำ mock งาน ก็ต้องใช้ไอ่ประโยคนี้แหล่ะ

ว่าแล้วก็สงสัย มันแปลว่าอะหยัง ... ก็เลย Google ดู

เชื่อมั้ย มันมีไอ่คำนี้ ซึ่งไม่มีความหมาย ตั้งกว่า 3 ล้านคำในโลก ก็เข้าๆ ไปไล่อ่านดู แค่อันแรกๆ ก็พบประวัติศาสตร์ของมัน ประมาณว่า ไอ่เจ้า ข้อความ ลอเร็ม อิปซัม โดโลร์ นี้ มันใช้กันมานานโข แล้ว เป็นหลายทศวรรษ แต่ทำไมคนถึงใช้กันได้ทั่วโลกขนาดนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีความหมาย ค้นไปค้นมา ก็เลยไปเจอคนมาอธิบายไว้ว่า หลายที่เลย

http://websitetips.com/articles/copy/lorem/
http://www.straightdope.com/columns/010216.html
http://www.lipsum.com/ --> อันนี้มีให้สร้าง text lorem ipsum เอาไปใช้เล่นๆ ได้ด้วย

ที่มาก็คือว่ากาลครั้งหนึ่ง เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว text นี้มันมาจาก คำพูดของ Cicero ปราชญ์ชาวกรีกนี่เอง แต่เจ้าสำนักพิมพ์ดันพิมพ์แล้วมัน scrambled ซักอย่าง ก็เลย โดนตัดกันกลางประโยคซะ ... แล้วก็น่ากลัวจะใช้ตามกันเรื่อยมาอย่างไม่มีเหตุผล

แต่อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ มีผู้รู้กล่าวไว้ในเว็บว่าเนื่องจาก text นี้มันอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถแปลความหมายได้ มันจึง "เหมาะ" อย่างมากที่จะไปใช้ทำตัวอย่าง เพราะเค้าว่ากันว่า ถ้า ใช้ตัวอย่างประโยคที่มีความหมายหรืออ่านรู้เรื่อง แล้วมันจะดึงความสนใจของลูกค้าที่กำลังจะต้อง approve layout หรือ design ไปนั่งอ่าน content แล้วก็มาว comment เรื่อง content ซะแทน (แม้ว่าจะรู้แล้วว่าสิ่งที่ต้อง approve คือ layout & design)

นี่เราจะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหรือเปล่าเนี่ย ใครรู้แล้วก็ขำๆ ละกันนะจ๊ะ ...

06 April 2007

ดิจิตอลริมถนน

สวัสดีครับ ขณะที่ท่านอ่านบทความนี้ ท่านอยู่ที่ไหนครับ … ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ผมนั่งอยู่ริมถนนในซอยทองหล่อ เขียนไปมองน้ำพุไป อย่าอิจฉานะครับ … ระยะหลังมานี้ Wi-Fi เริ่มมีให้ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้วครับ ทองหล่อ เป็นหนึ่งซอยที่มี Wi-Fi ใช้ได้เกือบทั้งซอย และสัญญาณแรงขึ้นไปถึงตึกที่ผมนั่งทำงานอยู่ปัจจุบันทีเดียว นอกจากนี้ก็ยังมีสยามสแควร์ นับได้ว่านักเล่นเน็ตบ้านเราโชคดีไม่น้อยเชียวครับ (แม้จะยังไม่โชคดีเท่าสิงคโปร์ หรือ สเปน ที่มีใช้กันในเกือบทุกพื้นที่) …

แต่ช้าก่อนครับ ดิจิตอลริมถนน อย่างที่หัวข้อบอกไว้ไม่ได้หมายถึงเรื่อง Wi-fi อย่างเดียวครับ อันที่จริงผมกำลังจะแนะนำถึงการผสานสื่อดิจิตอล เข้ากับสื่อ OOH (Out of Home Media) ซึ่งผมเรียกแผลงๆไปเองว่า ดิจิตอลริมถนน นี่เองครับ … ช่วงปลายปีที่แล้วใครที่มีโอกาสไปสยามเซ็นเตอร์คงจะได้เห็นโฆษณารองเท้าไนกี้ขนาดใหญ่บนฝาผนัง ซึ่งถ้าลองสังเกตแล้วใครที่สนใจ ก็เลือกที่จะดาวน์โหลดข้อมูลรองเท้านั้นออกจากแผ่นป้ายโฆษณาได้ไม่ยากนะครับ

2D Barcode
โฆษณาอย่างของรองเท้าไนกี้ที่ว่านั้น มีทางเลือกให้คนรักรองเท้าได้ดาวน์โหลดรองเท้า 2 ทางด้วยกันครับ วิธีแรกคือการเอา โทรเข้าหมายเลขโทรศัพท์ 026963888 แล้วก็ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้บอกไว้ ระบบก็จะส่งลิงค์มาให้ดาวน์โหลดข้อมูลรองเท้าเอง ส่วนอีกวิธีหนึ่ง ดูจะทันสมัยกว่าแบบแรกอยู่มาก คือการใช้กล้องที่อยู่กับตัวโทรศัพท์ไปจ่อที่รูป บาร์โค้ด ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม เครื่องโทรศัพท์จะจัดการแปลความเจ้า Bar Code ที่เห็น ว่าเป็นรองเท้ารุ่นไหน อย่างไร แล้วก็ส่งเจ้ารองเท้านั้นเข้าเครื่องมือถือเราได้ทันทีครับ
(สนใจเรื่อง 2D Barcode เข้าไปดูที่
http://www.mobilelife.co.th/mobilelife/t/barcodeaccess/index.html)

Bluecasting
การแข่งขันวิมเบิลดันปี 2006 ไอบีเอ็ม (โดยโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์) จัดการเนรมิต ต้นไม้วิเศษขึ้นมาตามท้องถนน โดยรอบบริเวณการแข่งขัน ใครที่เดินมาที่ต้นไม้นี้ ไม่ต้องอธิษฐาน เพียงแต่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา เปิด Bluetooth ก็พร้อมที่จะรับข้อมูลผลการแข่งขันได้ทันที นอกจากจะรับผลการแข่งขันแล้ว ยังสามารถเข้าไปเลือกลงทะเบียนรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมจากไอบีเอ็ม ได้อีกเช่นกัน นอกเหนือจากต้นไม้วิเศษแล้ว โอกิลวี่ยังสร้าง สนามวิเศษ และ … เก้าอี้กรรมการวิเศษอีกด้วย … การส่งผ่านข้อมูลโฆษณาผ่านเจ้า Bluetooh อย่างที่ว่านั้น ถูกเรียกว่า “Bluecasting” ซึ่งในระยะหลังมานี้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น คาดว่าปีนี้คงได้เห็นมากขึ้นในเมืองไทยเราครับ เตรียมเปิด Bluetooth ไว้รอรับกันได้เลย
(ดูภาพประกอบ เข้า Google.co.th แล้ว search ด้วย keyword “special tree wimbledon 2006”)

Interactive OOH Media
เจ้า Interactive Media ตัวนี้เปิดโอกาสให้เราได้ “เล่น” กับงานโฆษณาผ่านทาง เทคโนโลยีเซนเซอร์จับการเคลื่อนไหว และ/หรือ การรับภาพผ่านทาง Digital Camera แล้วนำไปประมวลผล เพื่อเลือกแสดงชิ้นงานโฆษณาออกมาผ่านทางการเคลื่อนไหวของเรา อ่านแล้วเห็นภาพได้ยาก ต้องลองเข้าไปดูตัวอย่างงานครับ ที่
http://www.youtube.com/watch?v=IqVgPZlKpmc สำหรับในบ้านเรา สื่อตัวนี้มีมาโชว์ให้เห็นตั้งแต่งาน TAM ปีที่แล้วครับ เราอาจจะได้เห็นบูธแสดงเทคโนโลยี ของ NOKIA เมื่อเดินเข้าไปใกล้ จะเห็นแสงจากโปรเจกเตอร์ฉายลงมา พอเราเอามือชนกัน แสงที่ฉายลงมาก็แปลงร่างเป็นโทรศัพท์มือถือ NOKIA ฉายลงมาในมือของเราเรียบร้อยทีเดียว

นอกเหนือจากสองสามเทคโนโลยีข้างต้นแล้ว ยังมีรูปแบบแปลกๆ ให้เห็นอีกนะครับ เช่น Mobile Video Advertising ลองดูที่
http://www.youtube.com/watch?v=2FDrkxB2QFY ได้ และเตรียมติดตามเรื่องใหม่ๆ อย่าง ของ Location-based SMS ด้วยนะครับ ได้ข่าวว่าทางผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เริ่มที่จะเปิดให้บริการทางด้านโฆษณากันบ้างแล้ว ต่อไป เราอาจจะได้รับ SMS โปรโมชั่นร้านอาหารตอนที่เราอยู่ใกล้ๆ ก็ได้นะครับ

กว่าจะเขียนจบบทความ ก็กลับมานั่งอยู่ในออฟฟิศ เสียแล้วครับ สำหรับท่านไหนที่สนใจเรื่องของ ดิจิตอลริมถนน เขียน e-mail เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้นะครับ ทุกวันนี้อะไรๆ ก็พัฒนาไปเร็ว ไล่อ่านไล่ศึกษาคนเดียวอาจจะไม่ทันเสียแล้วครับ … สวัสดีครับ

10 March 2007

7 เรื่องน่ารู้เมื่อเริ่มใช้สื่อดิจิตอล

ปี 2550 นี้ เชื่อเหลือเกินครับว่าพวกเราทุกท่านจะได้เห็นแคมเปญการตลาด ของแบรนด์ต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมากในสื่อดิจิตอล บางแบรนด์ที่เริ่มต้นทำมานานแล้ว สะสมความรู้ไว้มาก ยิ่งทำก็ยิ่งได้ผลตอบรับดีมากขึ้น บางแบรนด์ก็เพิ่งจะจัดสรรงบประมาณมาทดลองสื่อดิจิตอลนี้ บางแบรนด์มั่นใจเต็มที่ บางแบรนด์ผู้ใหญ่สั่งมา และบางแบรนด์ยังกล้าๆ กลัวๆ ฉบับนี้จึงขอฝากเรื่องน่ารู้สำหรับท่านที่สนใจเริ่มใช้สื่อนี้ (รวมถึงหลายท่านที่ใช้งานอยู่ เชิญพิจารณาครับว่าตรงกับสิ่งที่ท่านคิดหรือทำอยู่หรือเปล่า)

1. สื่อดิจิตอล ทำไม่ได้ทุกอย่าง –ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในบ้างเรามีแค่ 10 ล้านคน เทียบกับประชากรทั้งหมดยังน้อยอยู่เลย เพราะอย่างนั้นถ้าหวังผลวงกว้างเหมือนการใช้โทรทัศน์ คงเป็นไปไม่ได้ (แต่ถ้าสนใจกลุ่มเฉพาะ 15-29 กรุงเทพฯ ละก็ ใช้ได้ไม่เลวเลยครับ วัยรุ่นบางคนไม่ดูทีวีแล้ว ส่วนคนทำงานหลายคนอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในที่ทำงาน มากกว่าอยู่หน้าจอทีวีหลายเท่าตัวนัก) ส่วนโทรศัพท์มือถือนั้นมีคนใช้มากถึง 35 ล้านคน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์ และโครงข่าย ทำให้ไม่สามารถทำงานโฆษณาที่เน้นภาพเสียงสมบูรณ์แบบได้

2. แต่สื่อดิจิตอลทำบางอย่างที่สื่ออื่นทำไม่ได้ – สื่อสารสองทางแบบทันทีทันใด (Interactivity) เข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นรายบุคคล (Identifiable) จัดสรรข้อความโฆษณาที่เหมาะกับแต่ละคนได้ (Personalization) เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลได้อย่างดี (Database Collection) นำเสนอโฆษณาในเวลาที่ผู้บริโภคต้องการและกำลังค้นหา (Search Engine Marketing) ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และข้อความได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้งบประมาณจำกัด (Real-time monitoring & Adjustment) ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเอกลักษณ์ของสื่อดิจิตอล ที่เราหาไม่ได้ในสื่อชนิดอื่น

3. เน้นผลตอบรับ (ROI) เชิญทางนี้ – หลายคนบอกกันว่าสื่อนี้เชื่อถือได้ยาก เพราะวัดผลไม่ได้ ฟังแล้วก็น่าแปลกใจครับ เพราะสื่อนี้วางอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยี ทุกการเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยน ทุกการตอบสนองของผู้บริโภคเราสามารถบันทึกไว้ในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมนิยามตัววัดที่จะใช้ และจัดเตรียมระบบการวัดผลในขั้นตอนต่างๆ ให้ครบถ้วน

จากข้อ 1 ถึง 3 นี้เองครับ เราจึงมักจะเห็นหลายๆ แบรนด์เลือกที่จะดึงเอาสื่อดิจิตอลไปผสานกับสื่อหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ วิทยุ สื่อกลางแจ้ง รวมไปถึงกิจกรรมการตลาดอื่นๆ โดยดึงเอาจุดแข็งของแต่ละสื่อมาประกอบกับเป็น Integrated Campaign

4. เก่าแต่ชัวร์ หรือใหม่หวือหวาน่าลุ้น – สำหรับท่านนักการตลาดที่สนใจใช้สื่อนี้ ต้องบอกก่อนครับว่าจนถึงปัจจุบันสื่อนี้มีอายุเกือบ 10 ปีแล้ว บางท่านอาจคาดหวังว่าหากใช้สื่อดิจิตอลแล้ว จะต้องเห็นอะไรใหม่ๆ เสมอไป แต่ในความเป็นจริงแล้วหากท่านคาดหวังผลตอบรับที่แน่นอน เครื่องมือที่เลือกใช้อาจเป็นเครื่องมือแบบเดิมๆ เช่นการใช้แบนเนอร์โฆษณา หรือการทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหา เนื่องจากมีกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จมาก่อนมาก ท่านจึงคาดการณ์ความสำเร็จได้ ส่วนเครื่องมือที่ออกมาสู่ตลาดใหม่ๆ นั้น หากท่านจะเลือกใช้ อาจต้องเสี่ยงกับความไม่แน่นอนของผลตอบรับบ้าง แลกกับภาพลักษณ์ที่เป็นความหวือหวาแหวกแนวเป็นสมัยใหม่

5. ยึดมั่นกับวัตถุประสงค์ – เช่นเดียวกับเครื่องมือการตลาดทั่วไปครับ เครื่องมือแต่ละตัว ก็มีลักษณะเฉพาะ เหมาะกับวัตถุประสงค์ของแคมเปญแต่ละแบบ เช่น ใครสนใจเรื่อง ผลตอบรับในแง่ยอดขาย การใช้เครื่องมือที่วัดผลได้ละเอียด เน้น ROI (เช่น Google Adwords หรือ ลงทุนติดตั้งตัววัดอย่าง Doubleclick) ก็ดูจะเหมาะมาก ส่วนถ้าใครสนใจเรื่องความรับรู้หรือ Awareness ท่านอาจต้องเลือกใช้แบนเนอร์โฆษณาลงในเว็บไซต์ที่มี ราคาต่อหน่วยการแสดงผลต่ำ ไม่ว่าจะเป็น ราคาต่อการแสดงผล (CPM) หรือราคาต่อคลิก (CPC) รวมถึงเว็บไซต์ที่มีจำนวนผู้เข้าชมสูง

6. อย่าแปลกใจเรื่องราคา – สำหรับสื่อดิจิตอลในบ้านเรา ยังไม่ได้มีการจัดทำมาตรฐานของสื่อมากนัก โดยเฉพาะมาตรฐานด้านราคา เช่น เว็บไซต์เฉพาะทางแต่ละรายยังมีแนวคิดในการตั้งราคาต่างกันมาก (หรือบางเว็บไซต์อาจไม่ทราบวิธีการตั้งราคาเลยด้วยซ้ำ) ส่วนเว็บพอร์ทัลใหญ่ๆ ส่วนใหญ่มีนโยบายราคาชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติแล้วการเสนอราคารวมทั้งส่วนลด ยังมีความยืดหยุ่นสูงขึ้นกับพนักงานขายแต่ละคน ดังนั้น ราคาที่ได้เสนอเข้ามาในแต่ละครั้งอาจมีความแตกต่างกันได้มาก อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับสื่อชนิดอื่นๆ ยิ่งซื้อมากยิ่งได้รับส่วนลดมาก หลายๆ แบรนด์จึงเลือกซื้อสื่อผ่านทาง Media Agency เพื่อให้ได้ราคาถูกลง

และข้อ 7 ทิ้งท้ายบทความฉบับนี้ไว้ด้วย ภาษิตจีน ที่ผมขอคัดลอกต่อมาจากผู้ใหญ่ในวงการโฆษณาอีกท่านหนึ่งว่า I hear … and I forgetI see … and I rememberI do … and I understandหากท่านสนใจอยากทำความเข้าใจสื่อดิจิตอล … ละสายตาจากบทความนี้ แล้วเตรียมตัวออก สตาร์ทแคมเปญแรกของท่านกันดีกว่าครับ

31 January 2007

Digital Advertising Trend 2007

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่าใช้เวลาคิดอยู่นานสองนานนะครับ ว่าจะกล้าเขียนเรื่องนี้หรือเปล่า เนื่องจากได้อ่านข้อเขียนบทความหลายชิ้นที่กล่าวถึงแนวโน้มโฆษณาบนสื่อดิจิตอลซึ่งส่วนใหญ่พูดถึงออนไลน์ ในปีนี้ ก็เกรงว่าจะเขียนเรื่องซ้ำน่าเบื่อไปเสีย แต่พอทางบิสิเนสไทยบอกให้ทราบว่า ปีนี้เน้น “ความคิดเห็น” ได้มากขึ้น จึงค่อยผ่อนคลายสบายใจ มาลองดูกันครับ แนวโน้มปีนี้ น่าจะมีอะไรบ้างครับ

เล่นข้ามสื่อ (Cross Media or Integrated Media)
แต่ไหนแต่ไรมาเราก็มักจะเชียร์นักการตลาด ให้เห็นลักษณะเฉพาะของตัวสื่อเอง เช่นเดียวกับของทุกอย่างครับ มีจุดดีก็ต้องมีจุดด้อย เราก็อยากเห็นแคมเปญโฆษณาที่เอาจุดดีของสื่อ เช่น การเก็บฐานข้อมูล และระบุตัวตนได้ การปรับแต่งเนื้อหาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในต้นทุนที่ต่ำ การแก้เกมส์กลางทางได้เพราะวัดผลได้เร็วแม่นยำ ฯลฯ ไปเสริมกับสื่อออฟไลน์ที่มีพลังในการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้กว้างกว่า หรืองานสร้างสรรค์ที่มีรายละเอียดมากกว่า ขนาดใหญ่กว่า ดึงดูดสายตาได้มากกว่า ซึ่งต้องเรียนว่าในปี 49 ที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นเยอะขึ้นในบ้านเรา และเชื่อเหลือเกินว่าในปี 50 ซึ่งนักการตลาดหันมาชายตามองสื่อดิจิตอลมากขึ้น เราน่าจะเห็นแคมเปญข้ามสื่อมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์กับอินเตอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์กับอินเตอร์เน็ต มือถือ สื่อ out of home กับมือถือ หรือการจับคู่แบบอื่นๆ ตามความสร้างสรรค์

ภาพเสียงสมบูรณ์ผ่านวีดีโอ (Video Advertising)
ในภาวะที่อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในบ้านเราโตเหมือนติดจรวด (เท่าที่ทราบเร็วที่สุดในเอเชียเลยนะครับ) เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกชม content หรือเนื้อหาที่มีความสมบูรณ์ทางภาพและเสียงได้มากขึ้น และส่งผลมายังผู้ผลิต content รวมถึงนักการตลาดที่จะเล่นกับเรื่องของ วีดีโอ กันอย่างสนุก จึงไม่แปลกที่เราเห็น Video Banner ปรากฏขึ้นในเว็บไซต์ชั้นนำอย่างมาก ในช่วงไตรมาสหลังของปี 49 และน่าจะเห็นเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยครับในปี 50 นี้

แสดงผลในอุปกรณ์หลากหลาย (Multi-Device)
นับวัน โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ ใกล้จะกลายเป็นของอย่างเดียวกันไปทุกที แต่ลระหว่างกลางนี้ เราจะได้เห็นอุปกรณ์ลูกผสมเกิดขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะ Smart Phone หรือ PDA ในบ้านเราที่บูมสุดๆ ในปี 49 และราคาน่าจะถูกลงด้วยในปี 50 เมื่อเป็นเช่นนี้จึงน่าเชื่อว่าอัตราการใช้งานสื่ออินเทอร์เน็ตจากอุปกรณ์เคลื่อนที่อื่นๆ น่าจะมากขึ้นไปด้วย ผู้ผลิต เว็บท่าและแน่นอนนักการตลาด คงเตรียมตัวรับเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกัน

เลิกแทงตาแต่หันมามีส่วนร่วม (Consumer Engagement)
ถ้าทิศทางโฆษณาบ้านเราตามรอยประเทศอื่นๆ ที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ปี 50 นี้เราน่าจะเห็น Banner Ad บางชนิดน้อยลง ชนิดที่ว่านั้นคือ Banner ที่มีลักษณะทิ่มแทงสายตา เช่น Floating Ad หรือ Pop-up Ad ที่เบียดบังเนื้อหาสาระของเว็บไซต์ ก็ลองคิดดูสิครับ แม้แต่ Browser รุ่นหลังๆ หรือ Toolbar แต่ละยี่ห้อที่เราเอามาติด ก็ล้วนแต่มีระบบป้องกัน Pop-up ทั้งสิ้น น่าจะบอกนักการตลาดได้ชัดว่าเรื่องนี้คือสิ่งที่คนไม่ต้องการ แนวการโฆษณาจึงน่าจะไปให้ความสนับสนุนเว็บไซต์ในรูปแบบของ Sponsorship หรือทำบทความเชิงโฆษณา ได้มากขึ้น รวมไปถึงโฆษณาในรูปแบบแปลกๆ ที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน โดยไม่ทำให้รำคาญใจ

E-mail และ SMS Marketing
ด้วยว่าสื่อดิจิตอลนี้เป็นเครื่องมืออย่างดีในการเก็บฐานข้อมูล ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นักการตลาดจะหันมาเก็บ เก็บ เก็บ และเก็บ ชื่อ อีเมล์ เบอร์โทร ลูกค้าเอาไว้ใช้ในทางการตลาดต่อไป โดยเฉพาะเมื่อกฎ กติกา ในด้านการโฆษณาสินค้าบางจำพวกยังไม่ชัดเจน การเก็บ Opt-in อีเมล์ หรือเบอร์โทร น่าจะเป็นช่องทางที่สะดวก และเมื่อฐานข้อมูลมีขนาดใหญ่ขึ้น การจัดส่งข้อมูลการตลาดให้ตรงกับความสนใจของแต่ละคนก็จะมีความสำคัญมากขึ้น

Google
สุดท้ายคงหนีไม่พ้นการรุกคืบเข้ามาของสามค่ายยักษ์ใหญ่ ที่หันมาเปิดบริการ Advertising Solution กันอย่างมาก แต่สำหรับคนไทยแล้วแทบทั้งหมดก็ยังใช้งาน Google และเราน่าจะเริ่มเห็น โฆษณาใน Google มากขึ้นทั้งในรูปของ Search Engine Marketing หรือแบบที่ลงในเว็บไซต์เครือข่ายพันธมิตรของ Google (ที่มีจำนวนสูงขึ้นอย่างมากเช่นกัน)

ตกหล่นเรื่องสำคัญเรื่องไหนไปบ้างหรือเปล่าครับ แนะนำกันมาได้นะครับ เผื่อจะช่วยกันขยายในบทความครั้งหน้า สวัสดีปีหมูทองครับ :-)

26 November 2006

ส่องกล้องมอง พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจได้ทราบข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผ่านร่าง พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กันบ้างนะครับ อันว่า พรบ. ใหม่นี้ถือว่าเป็น พรบ. ที่เริ่มต้นร่างกันมานานพอสมควรแล้ว โดยเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ 6 ฉบับ ที่เริ่มกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 แล้ว และผู้เขียนเห็นว่าเนื้อหาของ พรบ. ดังกล่าวซึ่งผ่านการรับหลักการในสภานิติบัญญัติไปเมื่อ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่พวกเราชาวไซเบอร์ รวมถึงนักการตลาดน่าจะสนใจใคร่รู้ จึงขออนุญาตนำเอาประเด็นสำคัญใน พรบ.มานำเสนอ ในที่นี้

ในร่าง พรบ. ดังกล่าว ประกอบด้วย 28 มาตรา นอกเหนือจาก มาตราที่ 1-4 ที่เป็นการให้คำนิยามของคำว่า “ระบบคอมพิวเตอร์” “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” “ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์” และคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็แบ่งออกเป็น 2 หมวด หมวดแรกจำนวน 11 มาตรา นั้นกำหนดเกี่ยวกับฐานความผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนหมวดที่สองอีก13 มาตรากำหนดเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ลองมาดูกันนะครับว่ามีเรื่องอะไรควรรู้บ้าง

สำหรับพวก Hacker Cracker ทั้งหลาย ควรทราบความผิดตามมาตรา 5 – 8 ไว้ให้ดีครับ พวกที่ชอบแอบเข้าบ้าน (ระบบ) ของคนอื่น ที่เจ้าของบ้านได้ป้องกันไว้แล้วแต่ยังพยายามเจาะเข้าไปจนได้ ไม่ว่าจะเข้าไปทำหรือไม่ทำอะไรก็ตาม มาตรา 5 กำหนดโทษไว้ให้จำคุกหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท … ความเห็นของผู้เขียนว่าบทลงโทษอาจจะเบาไปสักหน่อยนะครับ คงต้องติดตามกันต่อไป

ส่วนในมาตรา 6 ท่านไหนที่ได้ไปรู้วิธีเข้าระบบหรือรู้ password ของระบบแล้วเที่ยวเอาไปบอกคนอื่น เตรียมตัวครับ โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ข้อนี้ยอมความไม่ได้นะครับ
มาตรา 7 คล้ายกับมาตรา 5 มาก แต่ระบุชัดเจน ถึงการ “เข้าถึงข้อมูล” (มาตรา 5 นั้นเข้าถึงแค่ “ระบบ”) อันนี้โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท และยอมความได้เช่นเดียวกับมาตรา 5 จนผู้เขียนได้รับฟังความเห็นจากหลายท่านเห็นว่าน่าจะรวมกันเสียก็ดีเหมือนกัน

พวกชอบดักจับข้อมูล ต่อไปมีความผิดแล้วนะครับ ตามมาตรา 8 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีข้อยกเว้นให้กับการดักจับตามคำสั่งของเจ้าของข้อมูลเอง

พวกไม่หวังดี ชอบทำลาย ให้เกิดความเสียหายด้วย เตรียมตัวรับโทษหนักขึ้นได้ครับ เพราะในมาตรา 9 กำหนดให้ผู้ที่ทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือถ้าชอบก่อกวนให้ระบบคนอื่นถูกระงับ ใช้งานตามปรกติไม่ได้ อันนี้มาตรา 10 กำหนดบทลงโทษไว้หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน และถ้าส่งผลถึงด้านความมั่นคงของประเทศโทษอาจสูงขึ้นถึง จำคุก 15 ปี หรือปรับมากถึง 300,000 บาท หรือเกิดอันตรายต่อร่างการหรือชีวิตของประชาชน โทษก็สูงขึ้นไปถึงขั้นประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกสิบถึงยี่สิบปีได้เลยนะครับ ส่วนในมาตรา 12 นั้น อ่านดูอาจจะ งง งง เล็กน้อยนะครับ แต่ถ้าบอกว่าเป็นการกำหนดบทลงโทษสำหรับพวกที่จัดทำ หรือเผยแพร่ spyware คงเป็นที่คุ้นเคยกันดี

อ่านดูในมาตรา 5 – 12 ข้างต้นนั้น อาจจะดูไกลตัวผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตธรรมดาไปสักหน่อย แต่ตั้งแต่มาตรา 13 เป็นต้นไปทุกท่านควรทราบไว้ให้ดีครับ เพราะว่าด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ ทำให้บุคคลที่สามเสียหาย เป็นความผิดต่อความมั่นคง หรือข้อมูลอันลามก ล้วนแล้วแต่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งในมาตรานี้ ผู้เขียนอยากจะย้ำเป็นพิเศษครับ เพราะโทษนั้นไม่ได้มีเฉพาะผู้ที่เป็นคนสร้าง ทำ ผลิต เท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมถึงคนที่ เผยแพร่ หรือส่งต่อด้วย ต่อไปทุกท่านต้องระวังนะครับ เมื่อได้รับอีเมล์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเข้าข่ายความผิดดังกล่าว ที่ผ่านมาเราอาจจะกด forward ส่งต่อไปไม่ได้คิดอะไร แต่ต่อไปจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายเช่นกันครับ และบทลงโทษที่กำหนดไว้ก็ไม่ได้ต่างจากผู้ที่เป็นคนนำเข้าข้อมูลดังกล่าวเสียด้วย

ส่วนมาตราที่ 14 ถือว่าเป็นมาตราที่เหล่าผู้ดูแลเว็บ หรือดูแลระบบต้องให้ความใส่ใจครับ เพราะหากมีผู้อื่นนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิด เข้าสู่ระบบที่เราดูแล และเรารับทราบและไม่ได้ลบข้อมูลนั้นในทันที ก็ถือว่ามีความผิดไปตามมาตราที่ 13 กับเขาด้วย น่าคิดนะครับ ว่าในทางปฏิบัติผู้ดูแลเว็บจะจัดการกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้เร็วแค่ไหน และคำว่า ทันที นั้นจะหมายถึงอย่างไร

สุดท้ายในหมวดนี้ มาตรา 15 นั้นเน้นเรื่องภาพตัดต่อ ที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงโดยเฉพาะ ทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ยอมความได้ครับ)

ส่วนในหมวดที่สอง เรื่องเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้เขียนขอไม่กล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้นะครับ แต่อยากเรียนเชิญให้ทุกท่านได้ลองไปศึกษาเพิ่มเติม และแสดงความเห็นเกี่ยวกับ พรบ. ใหม่นี้ได้ที่
http://wiki.nectec.or.th ลองมองดูกลางๆ หน้าจะเจอ คำว่า ร่างพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... HOT!! หรือถ้าไม่เจอ ก็ใส่คำว่า ร่างพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... ลงในช่อง search นะครับ หรือถ้าสนใจอ่านความเห็นเพิ่มเติมก็มีผู้ให้ความเห็นไว้ที่ http://www.biolawcom.de อีกที่หนึ่ง พบกันใหม่ครั้งหน้าครับ สวัสดีครับ

26 October 2006

It’s not WHAT you know, but WHO you know

เห็นด้วยกับคำกล่าวข้างต้นไหมครับ สำหรับพวกเราหลายคนอาจให้ความสำคัญกับเรื่องของ “สังคม” หรือ “คอนเนคชั่น” สัปดาห์นี้ขออนุญาตแนะนำทุกท่านให้รู้จักกับบริการบนอินเตอร์เน็ตที่ เชื่อม “คน” กับ “คน” เข้าด้วยกัน พา “เพื่อนเก่า” ที่ห่างหายไม่ได้ติดต่อกันมานาน กลับมาเจอกัน หรือแม้กระทั่งเปิดโอกาสให้เราพบ “เพื่อนใหม่” จากกลุ่ม “เพื่อนของเพื่อน” เราอาจเรียกบริการจำพวกนี้ได้ว่า Social Network Service (SNS) นั่นเองครับ

หลายท่านที่มีประสบการณ์การใช้งานคงจำได้นะครับ จู่ๆ เราก็ได้รับอีเมล์จากเพื่อนของเราบอกว่าเข้าไปสมัครบริการนี้สิ เราก็เข้าไป ลงทะเบียน ใส่ข้อมูลส่วนตัว เสร็จแล้วเราก็พบว่า เรามี “เพื่อน” อยู่ในระบบทันที 1 คน (คือคนที่ชวนเรามานั่นเอง) หลังจากนั้นก็เราก็ชักคิดถึงเพื่อนคนอื่นๆ ก็ค้นหาจากระบบดูว่ามีเพื่อนเราคงไหนอีกไหมที่ใช้เว็บนี้เหมือนๆ กัน ก็ไปชวนเข้ามาอยู่ในกลุ่มเพื่อนเรา ใครที่ไม่อยู่ เราก็ส่งอีเมล์ไปชวนให้มาเข้าระบบเสีย หลังจากนั้นเราก็อาจเริ่มรู้จักเพื่อนใหม่ๆ จากในระบบนี้เอง … คงเป็นเพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมกระมังครับ เราถึงเสียเวลานั่งทำอะไรอย่างที่ว่าได้อย่างเพลิดเพลิน

และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไม Friendster.com ถึงมีผู้ใช้งานกว่า 7 ล้านคนภายในปีเดียว Hi5.com มีคนไทยเข้าไปเล่นอยู่ 250,000 คนเข้าไปแล้ว เช่นเดียวกับ Ryze.com WAYN.com ที่มีผู้ใช้งานหลักล้าน รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง Google ก็เปิด Orkut.com ให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้สัมผัสด้วยเช่นกัน (ขอนอกเรื่องหน่อยนะครับ ที่ Google นี้เขามีนโยบายให้พนักงานใช้เวลา 20% ของการทำงาน ทำอะไรก็ได้อย่างอิสระเพื่อให้เกิดการค้นคว้าหาความรู้ และเจ้า Orkut.com นี่เป็นผลงานของพนักงานคนหนึ่ง ที่ใช้เวลา 20% ที่ว่านั่งสร้างระบบนี้ขึ้นมาครับ ทาง Google เลยตั้งชื่อตามชื่อพนักงานคนนั้นเสียเลยครับเพื่อเป็นการให้เกียรติ)

เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสมา เข้าใจว่า Hi5 น่าจะเป็นที่นิยมของคนไทยมากกว่าเพื่อน แนวการใช้งานเป็นลักษณะแนวสังสรรค์บันเทิง สนุกๆ มากกว่า ดารา นักร้อง นางแบบ หลายคนก็มาเล่นอยู่ในนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมี SNS รูปแบบที่เป็นธุรกิจ และมีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลายเช่นกัน

Linkedin.com ประกาศไว้บนหน้าเว็บว่ามีกลุ่มคนทำงาน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร เข้าไปเป็นสมาชิกเกิน 7 ล้านคนแล้ว เนื่องจากเป็นเครือข่ายที่เน้นด้านธุรกิจ จึงไม่มีลูกเล่นอะไร ไม่มีการให้โพสต์ภาพ หรือให้ข้อมูลส่วนตัวมากนัก และให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของสมาชิกสูงมากครับ แม้กระทั่งคำที่ใช้เรียกสมาชิกในเครือข่าย ก็เรียกว่า “Connection” นะครับ ไม่เรียกว่า “Friend” J

การรู้จักกันใน Linkedin ส่วนใหญ่ก็เพื่อทำธุรกิจ เท่าที่อ่านดูมีผู้ให้บริการทางธุรกิจว่า 200,000 รายอยู่ในนี้นะครับ อีกส่วนหนึ่งที่นิยมมากก็คือเรื่องของการสรรหาพนักงานภายในเครือข่ายดังกล่าว ว่ากันว่า มี Recruiter เข้าไปใช้งาน Linkedin ร่วม 60,000 คนแล้วครับ ผู้บริหารของบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งถึงกับกล่าวว่า การใช้งาน Linkedin ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานได้เกือบล้านบาททีเดียวครับ หรืออย่างที่ Deloittle ก็ประหยัดค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานได้ถึง 20% ด้วยการชวนให้พนักงานเก่าที่ลาออกไปแล้วกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง (แบบที่เรียกว่า Boomerang)

ประโยชน์จาก SNS เชิงธุรกิจในแง่มุมอื่นๆ เช่น การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า คู่ค้า อย่างไม่เป็นทางการ (SNS อย่าง Hi5 เปิดโอกาสให้เราได้รู้จักคนอื่นๆ ในด้านส่วนตัวมากขึ้น) บางครั้งก็ช่วยเราค้นหาตัว “ผู้รู้” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” ในเรื่องเฉพาะทางบางเรื่องได้ดี หรือใครที่ขายสินค้า บริการ บางครั้งอาจต้องการหา บริษัทพันธมิตร เพื่อมาร่วมกันเสนองานก็สามารถทำได้ ในแง่การบริหารบุคคล SNS ยังช่วยให้เราเข้าใจถึง ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในองค์กร (ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามสายบังคับบัญชา หรือผังองค์กรนะครับ แต่เป็นไปโดยส่วนตัวมากกว่า) ซึ่งเจ้าความสัมพันธ์ที่ว่านี้จะบอกถึงการ “ไหล” ของข้อมูลภายในองค์กร ซึ่งก็นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน นำไปสู่การพัฒนาองก์ความรู้ภายในองค์กรได้ครับ

ในเชิงโฆษณา การใช้งาน SNS ส่วนใหญ่ต้องลงทะเบียนและให้ข้อมูลส่วนบุคคล (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ข้อมูลจริง เพราะใช้ในงานติดต่อกับ คน จริงๆ) การลงโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (ไม่ว่าจะเป็นตาม เพศ อายุ การศึกษา งานอดิเรก เรื่องที่สนใจ ฯลฯ) จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจไม่น้อยครับ

เล่ามาเสียเยอะ ใช่ว่า SNS จะมีแต่ด้านดีนะครับ ปัญหาของผู้ใช้งาน SNS ในปัจจุบันก็มาจากความนิยมที่มากเกินนี่เองครับ ทำให้เกิดเว็บ SNS ขึ้นอีกมากมาย จนเราอาจไปตามลงทะเบียนที่โน่นที่นี่ที่นั่นไม่ไหว เพื่อนคนหนึ่งอยู่ใน Hi5 เพื่อนอีกคนอยู่ใน WAYN เพื่อนอีกคนเล่นแต่ Linkedin แบบนี้ก็งงเหมือนกันนะครับ และด้วยเหตุผลนี้เอง SNS บางที่ถึงมี “จำนวนสมาชิก” อยู่มาก แต่ “จำนวนสมาชิกที่ใช้งานสม่ำเสมอ” หรือ Active members กลับมีไม่มากนัก ผู้ใช้งานหลายรายถึงกับเรียกหา Software ที่จะช่วยรวม SNS เข้าด้วยกัน ซึ่งดูแล้วลำบากสักหน่อย ส่วนหลายรายก็ถอดใจหันกลับไปติดต่อขาประจำผ่านทาง Instant Messaging เสียมากกว่า

มีทั้งข้อดี ข้อด้อย แบบนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับว่าอนาคตของ SNS จะเป็นอย่างไร ระหว่างนี้เราก็เลือกใช้ประโยชน์จากข้อดีของ SNS กันตามต้องการไปก่อนแล้วกันนะครับ … ทิ้งท้ายบทความนี้ฝาก Link ไปดูกันเล่นๆ ครับกับคำกล่าวของผู้บริหาร Youtube.com ที่เพิ่งขายกิจการไปให้กับยักษ์ใหญ่อย่าง Google ด้วยมูลค่าไม่มากไม่น้อย ประมาณ 6 หมื่นกว่าล้านบาทได้ครับ ดูร่าเริงสดใสกันดีนะครับ
http://www.youtube.com/watch?v=QCVxQ_3Ejkg

พบกันใหม่ครั้งหน้าครับ สวัสดีครับ

21 September 2006

User-Generated Content และพลังของการแลกเปลี่ยนแบ่งปัน

ก่อนเริ่มเรื่องในสัปดาห์นี้ ผมต้องขอขอบคุณท่านผู้บริหารของเอเยนซี่โฆษณารายหนึ่ง ที่ได้กรุณาแนะนำหัวข้อเรื่องสำหรับสัปดาห์นี้ และเมื่อลงมือเขียนพบว่าสนุกถูกใจผู้เขียนทีเดียว หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านเช่นเดียวกันนะครับ

อนาคตของการตลาดบนอินเตอร์เน็ตจะไปในทิศทางไหน เป็นคำถามที่น่าสนใจ ถ้าเราลองพยายามตอบคำถามนี้จากการสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว ในฐานะ “ผู้ใช้งาน” ดูเหมือนจะมีหลายเรื่อง หลายนิยามที่ผ่านตา หรือลอยเข้าหู มาในช่วงปีสองปีหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งต่อ Video ที่ Youtube.com การแชร์รูปภาพใน Flickr ความนิยมของการเขียน Blog หรือ Diary ในเว็บผู้ให้บริการสัญชาติไทยอย่าง Bloggang Exteen Storythai หรือ ที่คนเล่นเว็บบ้านเราใช้เยอะพอตัวอย่าง MSN Spaces (ที่ตอนนี้แปลงร่างเป็น Windows Live Spaces เป็นที่เรียบร้อย) เช่นเดียวกับเรื่องของ Wikipedia ที่กลายเป็นแหล่งรวมข้อมูล ขวัญใจนักศึกษา เช่นเดียวกับการ Search หาข้อมูลผ่าน Google ไปแล้ว

ทุกๆ เรื่องที่กล่าวข้างต้น ดูเหมือนจะมีลักษณะร่วมกันอยู่หนึ่งอย่างที่ค่อนข้างชัด นั่นคือ เนื้อหาที่ปรากฏในอินเตอร์เน็ต หรือเว็บไซต์ในปัจจุบัน และคาดว่าจะเป็นไปในอนาคต มีส่วนที่เกิดขึ้นจาก “ผู้ใช้งาน” เป็นผู้เขียน หรือ ส่งเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เรียกรวมๆกันอย่างตรงตัวได้เลยว่า User-Generated Content (UGC) นั่นเอง


นอกจากนั้นยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันครับ คือการไม่ยึดติดว่าจะต้องดึงผู้ใช้งานให้มาเข้าเว็บไซต์ของเรามากๆ และมาอ่านข้อมูลที่เรามี (บางคนเรียก Information Silo) แต่มองกลับไปถึงการจะทำอย่างไรให้เนื้อหาที่เราเขียนขึ้นนั้นแพร่หลายออกไปได้มากที่สุด เรียกว่าเนื้อหาอยู่ที่ไหนไม่สำคัญ ขอให้เป็นเนื้อหาของฉัน … และฉันควบคุมได้ เท่านั้นก็พอ และนั่นคือเรื่องของ Content Syndication อย่าง RSS ดูโดยรวมแล้วโลกอินเตอร์เน็ตเรากำลังมุ่งสู่การแลกเปลี่ยนแบ่งปันที่ทรงพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว
อันที่จริงการที่เราเปิดให้ผู้ใช้งานเป็นผู้เขียน หรือสร้างเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ ในทางเทคนิคก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่มากนะครับ อย่างเว็บไทย หลายๆ เว็บ ได้ออกแบบให้ผู้ใช้งานมามีส่วนร่วมสร้างเนื้อหาในเว็บเช่นกัน และประสบความสำเร็จเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ Pantip ที่เริ่มแรกเลยมาจากการสนทนาเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ Mthai ที่สร้างกระแสความนิยมการ Post ภาพบนเว็บ รวมถึงการเขียนไดอารี่ออนไลน์มากว่า 5 ปีแล้ว

ในเมื่อทางเทคนิคไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก แล้วอะไรล่ะครับ ที่เปลี่ยนไป ใช่แล้วครับ พฤติกรรมผู้ใช้งาน สิครับที่เป็นตัวกำหนดสำคัญ (เหมือนกับอะไรหลายอย่างในโลกอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีขยับก่อน และรออีกพักหนึ่งถ้าเทคโนโลยีนั้นโดนใจผู้บริโภค พฤติกรรมจะเปลี่ยนมาตามทีหลังไงครับ) ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตดูเหมือนจะคุ้นเคยกับการ เขียน แบ่งปัน แลกเปลี่ยนความเห็นกันมากขึ้น ที่สหรัฐอเมริกา เว็บอย่าง Youtube.com ติดอันดับเว็บที่โตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ Myspace ตอนนี้มีคนลงทะเบียนแล้วมากกว่า 100,000,000 คน!!!

UGC ในมุมของนักการตลาด
สำหรับนักการตลาดบน เมื่อเล็งเห็นความสำคัญกับเรื่องของ UGC มากขึ้นแล้ว การแปลความ วิเคราะห์ผลตอบรับก็เปลี่ยนมุมมองตามไปด้วย จากแต่ก่อนที่เราดูว่าผู้ใช้งานอยู่ในเว็บเรา “นานเท่าไร” ตอนนี้ยังต้องมาให้สำคัญกับความถี่ และเวลาที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมบนอินเตอร์เน็ต สนใจว่าผู้ใช้งานเข้ามา “ทำอะไร” โดยเฉพาะการเข้ามาเขียนเนื้อหาขึ้น หรือรวมไปถึงการแบ่งปันให้คนอื่นอย่างสะดวก นอกจากนั้นเหล่านักการตลาดยังให้ความสนใจถึงผลกระทบของ UGC ที่จะมีผลต่อแบรนด์ เพราะเมื่อการแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ทำได้ง่าย เร็ว ชัดเจนขึ้น พลังของมันจะมากขึ้นและน่าจะเหนือกว่าพลังจากข้อความโฆษณาด้วยซ้ำ ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่สามารถบังคับควบคุมทิศทางของการแลกเปลี่ยนความเห็นเหล่านี้ได้ ดูเหมือนว่าการเข้าไป รับฟังความคิดเห็น ให้ข้อมูลเมื่อจำเป็น แสดงความรับผิดชอบในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และมีส่วนร่วมกับชุมชนคนใช้สินค้าจะเป็นทางออกที่ลงตัวที่สุด เพราะความเห็นจากกลุ่มผู้บริโภคที่แลกเปลี่ยนกันอยู่นั้นเหมือนเป็นวัตถุดิบชั้นดีในเชิงวิจัยการตลาด พอๆ กับการเป็นแหล่งจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับงานโฆษณาชิ้นต่อไปของสินค้า ยกตัวอย่างกรณีของซุป Campbell ที่สหรัฐอเมริกาเปิดให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์แนะนำปราสาท ที่เหมาะเป็นสถานที่ถ่ายทำงานโฆษณาชิ้นต่อไป แล้วก็ได้สถานที่ที่โดนใจจริงๆ ครับ

หลายๆ แบรนด์ชั้นนำรวมทั้ง Coca-Cola มองเห็นแนวโน้มนี้ และลงทุนปรับโฉมเว็บ coca-cola.com ใหม่ให้มีความเป็น UGC มากขึ้น (ลองเข้าไปเล่นดูสิครับ) และที่น่าสนใจครับ สองเดือนที่แล้วนี้เอง WPP เครือเอเยนซี่อันดับหนึ่งรายล่าสุด ประกาศตัวลงขันกับผู้เชี่ยวชาญการสร้าง UGC และ moderate ชุมชนออนไลน์ อย่าง Liveworld เพื่อเปิดให้บริการด้านการจัดสร้าง และดูแล ชุมชนออนไลน์ให้กับสินค้าแบรนด์ดังต่างๆ โดยเฉพาะแล้วเช่นกัน

ส่วนในบ้านเราแม้ว่าเรื่องนี้จะยังใหม่ และตามหลังต่างประเทศอยู่บ้าง แต่นักการตลาดก็เริ่มเตรียมตัวแล้วนะครับ ผู้เขียนเองได้มีโอกาสพูดคุยกับ Brand Manager และ Product Manager หลายๆ สินค้า พบว่าตอนนี้ทีมการตลาดเริ่มหมั่นตรวจเช็คความเห็นของผู้บริโภคโดยการเข้าไปอ่านตามเว็บบอร์ดต่างๆ รวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมกับชุมชนออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น แล้วคุณล่ะครับ … ลองเข้าไปเล่นดูหน่อยไหมครับ
ยังเหลืออีกเรื่องหนึ่งที่เข้ามามีผลอย่างมากครับ คือ Social Networking ส่วนจะเกี่ยวอย่างไร มีผลแค่ไหนขอติดไว้ครั้งหน้าครับ แล้วพบกัน สวัสดีครับ

10 August 2006

ถนนทุกสายมุ่งสู่ Search Engine Marketing

สัปดาห์นี้เริ่มด้วยการพาไปดูแนวโน้มของโฆษณาออนไลน์กันสักนิดนะครับ ได้อ่านจากงานวิจัยต่างประเทศ บอกว่าอีก 5 ปี ตัวเลขงบโฆษณาออนไลน์ในสหรัฐอเมริกาน่าจะวิ่งไปถึงระดับ 15,000 ล้านเหรียญต่อปี (ประมาณ 600,000 ล้านบาท) โดยหลายธุรกิจเริ่มหันมาใช้งานสื่อออนไลน์กันมากขึ้น มีการใช้สื่อออนไลน์กับสื่อออฟไลน์ร่วมกัน และเริ่มหันไปวิเคราะห์ผู้บริโภคตามลักษณะพฤติกรรม (Behavioral targeting) มากขึ้น

อีกจุดที่น่าสนใจมากๆ ครับ เม็ดเงินในการโฆษณาออนไลน์เริ่มถูกเทมายังการทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหา (Search Engine Marketing) เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าจำพวก สุขภาพ ยานยนต์ ซึ่งใช้งบโฆษณาเยอะกว่าเพื่อนอยู่แล้ว กลุ่ม เสื้อผ้า เกมส์ ท่องเที่ยว ก็หันมาใช้มาก เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มใช้ search engine ในการค้นหาสินค้าเหล่านี้มากขึ้น รวมไปถึงกลุ่มสินค้า ด้านการเงิน และสื่อบันเทิง ด้วยเช่นกัน

สำหรับในบ้านเราการทำ Search Engine Marketing ก็ทำกันมาระยะหนี่งแล้วครับ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เน้นตลาดลูกค้าต่างประเทศ เช่น ท่องเที่ยว อัญมณี บริการสุขภาพ โดยใช้ Keyword ภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันกลุ่มนี้มีกว่า 90% เลยนะครับ แต่ในปีนี้เราเริ่มเห็นคนทำตลาดในประเทศ และใช้ คีย์เวิร์ดภาษาไทยเริ่มหันมาใช้ Search Engine Marketing กันมากขึ้น เช่นกลุ่มประกันชีวิต อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น


ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของ Search Engine Marketing คงหนีไม่พ้นความสามารถของ Search Engine เองโดยเฉพาะอย่างยิ่งความนิยมใน Google อย่างในบ้านเรา ตัวเลขล่าสุดผู้ใช้งาน Google ในการค้นหาข้อมูลมีมากถึง 86% เลยทีเดียว นอกจากนั้นทาง Google เอง ก็พัฒนารูปแบบการโฆษณาใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้นักการตลาดได้ทำโฆษณากันง่ายขึ้น

ในสัปดาห์นี้ผมขอแนะนำการทำ Search Engine Marketing ผ่าน Google สองแบบใหญ่ๆ ที่ใช้กันมากในบ้านเราครับ

1. Search Engine Optimization (SEO) – คือการทำให้ Search Engine วิ่งมาเจอเว็บของเราได้ง่ายขึ้นครับ ถ้าลองใช้ Google สังเกตว่าผลการค้นหาของจำพวก SEO จะขึ้นแสดงผลทางซ้ายมือของหน้าจอ โดยนักการตลาดต่างหวังจะให้เว็บติดอันดับแสดงผลใน 10 อันดับแรก (หน้าแรก) ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะจากงานวิจัย คนที่ใช้งาน Search แค่ครึ่งเดียวเท่านั้นครับ ที่เปิดไปดูผลการค้นหาหน้าที่สอง อีกครึ่งจบแค่หน้าแรก

ขั้นตอนการทำ SEO นั้นมีตั้งแต่การวิเคราะห์เว็บของคู่แข่ง การค้นหา Keyword ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของเรา การปรับแก้ Tag และข้อความในหน้าเว็บไซต์ รวมไปถึงการแลกลิงค์กับเว็บไซต์อื่นๆ ทั้งหมดเพื่อให้ลิงค์ไปเว็บของเราถูกแสดงผลในอันดับสูงกว่า เว็บอื่นๆ

2. Pay Per Click (PPC) – เช่น Google AdWords แบบนี้ต้องจ่ายค่าโฆษณาให้ Google แต่จะจ่ายก็ต่อเมื่อมีคนคลิกลิงค์มายังเว็บไซต์ของเราเท่านั้น ถ้าลองใช้ Google สังเกตนะครับ บางครั้งเวลาเราค้นหา Google จะแสดงลิงค์โฆษณาจำพวกนี้ขึ้นมาทางขวาของหน้าจอ เทคนิคสำคัญในการทำโฆษณา PPC นี้คือ การวิเคราะห์คู่แข่ง วิจัยและคิด Keyword รวมถึงการทำงบประมาณ ที่จะใช้ในแต่ละวันแต่ละเดือน

ในการโฆษณาแบบ PPC การจะจ่ายแต่ละคลิกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคู่แข่งด้วยซึ่งหลายครั้งต้องประมูลแข่งกัน และบางคีย์เวิร์ดมีราคาสูงอย่างไม่น่าเชื่อ อาทิเช่น Mesothelioma Lawyer (ใครทราบช่วยแปลทีครับ ผมแปลได้ว่า ที่ปรึกษาทนายเกี่ยวกับคดีมะเร็งเนื้องอกที่ปอด อันน่าจะเกิดจากการได้รับฝุ่นแร่ใยหินเข้าไป) ราคาถึง 600 บาทต่อคลิก Car Insurance (ประกันรถยนต์) ราคา 560 บาทต่อคลิก Debt Consolidation (การปรับโครงสร้างหนี้) ราคา 400 บาทต่อคลิก หรือ Student Loans (เงินกู้ยืมสำหรับนักศึกษา) ราคา 360 บาทต่อคลิก ทีเดียว

เนื่องจากการทำโฆษณาแบบ PPC เราจะต้องเสียค่าโฆษณาทุกครั้งที่มีคนคลิกเข้าเว็บไซต์ของเรา เรื่องสำคัญ (มาก) อีกหนึ่งเรื่องคือเราต้องพยายามจูงใจให้คนที่เข้ามายังเว็บไซต์เราแล้ว ซื้อสินค้า สมัครสมาชิก หรือมีปฏิสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้มากที่สุด วิธีการก็คือปรับการออกแบบ และข้อความในหน้าเว็บไซต์ที่คนคลิกเข้ามาเจอให้มีลักษณะจูงใจให้เกิดการซื้ออย่างที่กล่าวข้างต้น

เทคนิคการทำโฆษณาผ่าน Search Engine ยังมีอีกมากนะครับ ท่านที่สนใจลองศึกษาด้วยตัวเองได้จากอินเตอร์เน็ต เช่น
http://www.webmasterworld.com http://www.seo.in.th จากหนังสือ “Search Engine Marketing 2.0” ของคุณ จตุพล ทานาฤทัย กูรูด้าน Search Engine ของไทยซึ่งได้ให้ความกรุณาเป็นที่ปรึกษา และให้ข้อมูลหลายอย่างประกอบในบทความนี้ด้วย หรือจะติดต่อขอคำปรึกษาจากบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ก็สะดวกรวดเร็วดีเช่นกันครับ

มีความเห็นอย่างไร ลองอีเมล์มาคุยกันนะครับ และขอให้สนุกกับการทำ Search Engine Marketing กันทุกท่าน โชคดีครับ